'ดร.เอกนิติ' กางแผน 'ทีทีบี' มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน

'ดร.เอกนิติ' กางแผน 'ทีทีบี' มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน

"ดร.เอกนิติ" ประธานกรรมการทีเอ็มบีธนชาต กางแผน "ทีทีบี" ชู 2 กลยุทธ์ปี 2567 มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าก้าวสู่ Net Zero สร้างสมดุลทุกมิติ เติบโตในระยะยาว

"นอกจากความท้าทายด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่น่าเป็นห่วง และมีผลกับเศรษฐกิจไทยแล้ว ความท้าทายอีกด้านที่น่าเป็นห่วงในระยะยาวก็คือ ด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่วันนี้ส่งผลกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราเห็นกันอยู่แล้วว่า ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกัน จึงได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยก็ร่วมในพันธกรณีว่าจะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อก้าวสู่ Net Zero ในอนาคต" 

นี่คือคำกล่าวของ "ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" ในฐานะประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต ที่ชี้ให้เห็นถึง "ความท้าทาย" ที่ประเทศไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในความท้าทายสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่อง "ความยั่งยืน" ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อ "เรา" ทุกคน ทั้งธนาคาร ลูกค้า ธุรกิจ และประเทศไทย

ดร.เอกนิติ ฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของไทย ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือ การประกาศมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดว่ากิจกรรมทางธุรกิจใดคือสีเขียว เหลือง แดง เพื่อช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน

\'ดร.เอกนิติ\' กางแผน \'ทีทีบี\' มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ในมุมของ "ทีเอ็มบีธนชาต" หรือ ทีทีบี ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่อง "ความยั่งยืน" และนำมาใช้กำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนธุรกิจธนาคารฯ บนฐานลูกค้าที่มากขึ้นหลังจากการรวมกิจการ ด้วยภารกิจมุ่งสู่ The Bank of Financial Well-being หรือ "ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย" และการเป็น "ธนาคารเพื่อความยั่งยืน"

ในการจะบรรลุภารกิจทั้งคู่ "ทีทีบี" ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักคือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Transition Finance) เพื่อช่วยทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจให้สามารถปรับตัว พร้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

"สิ่งที่ทีทีบีแสดงชัดมาตลอดคือ ธนาคารฯ อยากเติบโตไปกับลูกค้าในระยาว จึงนำมาสู่การวางกลยุทธ์ที่มุ่งดูแลเรื่องหนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังของคนไทย รวมถึงส่งผลกระทบต่อธนาคารฯ และภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะยาว"

ดร.เอกนิติ กล่าวต่อไปว่า มีหลายเรื่องที่ธนาคารฯ ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เช่น โครงการ "รวบหนี้" หรือ Debt Consolidation ที่ให้ลูกค้ารวบหนี้มาไว้กับทีทีบีที่เดียว ทำให้ภาระหนี้ลดลงและออกจากวงจรหนี้ได้เร็วขึ้น ปัจจุบันช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการรวบหนี้ไปแล้วกว่า 17,000 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 6,700 ล้านบาท ซึ่งช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยไปได้กว่า 1,200 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่ธนาคารฯ มุ่งมั่นทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการ สินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ทีทีบีแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ttb welfare loan) ดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นเพียง 7.99% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินเดือนทีทีบี ซึ่งวันนี้มีลูกค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวกว่า 350,000 ราย โดยธนาคารฯ ตั้งเป้าในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อ สวัสดิการพนักงานมากกว่า 7 พันล้านบาท ในปี 2567

ผลของการทำสิ่งเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ (Responsible Lending) ทีทีบีจึงมีความพร้อมมากกว่าองค์กรอื่น ๆ ในการเดินไปสู่หลักเกณฑ์นี้ เพราะเป็นสิ่งที่ธนาคารฯ ทำมาแล้วก่อนหน้าถึง 3 ปี ผ่านวิสัยทัศน์เรื่อง Financial Well-being ที่ธนาคารฯ ใช้ปลูกฝัง เพื่อช่วยให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืน

\'ดร.เอกนิติ\' กางแผน \'ทีทีบี\' มุ่งสู่การธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ดร.เอกนิติ ยังชี้ให้เห็นถึงเส้นทางของธนาคารฯ ที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน และช่วยลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ซึ่งมาจากการทำ New Business Model ภายใต้กลยุทธ์ "Ecosystem Play" บนกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารฯ มีความชำนาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ เช่น กลุ่มพนักงานเงินเดือน กลุ่มคนมีรถ กลุ่มคนมีบ้าน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้คือกลุ่มที่ธนาคารฯ โฟกัสมาโดยตลอด และผลของการผสานจุดแข็งทำให้วันนี้ฐานทุนของธนาคารฯ แข็งแกร่งขึ้นมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

"ทีทีบี ตระหนักเป็นอย่างดีว่า แม้เราจะมีฐานะเป็น D-SIBs Bank หรือ อยู่ใน 6 กลุ่มแบงก์ใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นเราจะทำทุกอย่าง หรือไปแข่งทุกอย่างไม่ได้ เราจึงเลือกทำในจุดแข็งของธนาคารฯ โดยโฟกัสว่าเราเก่งเรื่องอะไร แล้วมุ่งไปสู่จุดนั้น ดึงจุดแข็งที่ธนาคารฯ เป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดย 1 ในจุดแข็งของเราคือ รถยนต์ ซึ่งเรากำลังสร้าง Car Owner Ecosystem เมื่อคิดถึงรถยนต์ ต้องคิดถึงทีทีบี เพื่อช่วยให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าที่มีรถดีขึ้นอย่างรอบด้าน"

ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ธนาคารฯ เล็งเห็นถึงความรับผิดชอบและความสามารถในการสร้างโซลูชันทางการเงินที่จะช่วยเร่งเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Transition Finance) เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยทีทีบี เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออกหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) และสีฟ้า (Blue Bond) เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล

ปัจจุบันธนาคารฯ มียอดการปล่อยสินเชื่อทั้งสีเขียวและสีฟ้ารวม 17,829 ล้านบาท และในปี 2567 ธนาคารฯ ได้กำหนดเป้าหมาย สินเชื่อสีเขียว เป็นจำนวนเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจ หรือโครงการที่ต้องการมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

"ที่น่าสนใจคือ ทีทีบีกำลังศึกษาเกี่ยวกับการออก หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Green Securitization Bond) ซึ่งจะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าว โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของประเทศ ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573"

เพราะทีทีบีเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนไม่สามารถแยกจากกันได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนสู่ การธนาคารเพื่อความยั่งยืน จึงมุ่งมั่นเดินตามกรอบ B+ESG (Business Sustainability, Environmental Sustainability, Social Sustainability และ Corporate Governance & Business Ethics) ที่ทุกกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและมีความยั่งยืนให้กับทั้งลูกค้า พันธมิตร ชุมชน และสังคม 

"ทีทีบี มีการตั้งเป้าหมาย KPI ในด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจน เพื่อต้องการให้คนในองค์กรตระหนัก และให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งการจะนำไปสู่ภาพเหล่านี้ได้ สิ่งที่ธนาคารฯ มุ่งเน้นคือคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะสุดท้ายแล้ว ธนาคารฯ ไม่ได้หวังว่าทีทีบีจะกำไรโตที่สุด แต่สิ่งที่เน้นคือธนาคารฯ ต้องยั่งยืนไปพร้อมกับลูกค้าในระยะยาว"

สุดท้าย "ทีทีบี" เชื่อว่าสิ่งที่ทำในวันนี้ยังไม่เพียงพอ ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เพราะหากดูในภาพใหญ่ของประเทศไทยวันนี้พบว่า ยังมีการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 372 ล้านตันคาร์บอน โดย 70% มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง ดังนั้นยังต้องลดการปล่อยคาร์บอนอีกมาก และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ธนาคารฯ จึงโฟกัสในเรื่อง "รถยนต์" ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ รถ EV มากขึ้น เพราะมองว่าความยั่งยืนต้องเริ่มจากภายในองค์กร โดยธนาคารฯ ได้ตั้งเป้าเปลี่ยนรถยนต์ของส่วนกลางที่สำนักงานใหญ่ทั้งหมดไปเป็น รถยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าในสำนักงานเป็นพลังงานจากโซลาร์เซลล์มากขึ้นในอนาคต ตอกย้ำด้วยการปักหมุดไปสู่ Net-zero Commitment โดยสอดรับตามเป้าหมายของประเทศ 

ดร.เอกนิติ ทิ้งท้ายว่า "ความท้าทาย" ที่ยากที่สุดของไทยในการมุ่งไปสู่ความยั่งยืนคือ ยังมีการตื่นตัวในเรื่องนี้น้อยมาก หลายธุรกิจมองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวและระยะยาว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีความสนใจน้อยมาก จะมีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่เริ่มปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น "ทีทีบี" และสถาบันการเงินต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้เกิดกลไกการส่งผ่านและสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้ "เรา" ทุกคน "ตระหนัก" ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ เพื่อให้เกิด "ความยั่งยืน" มากขึ้น