ค่าเงินบาทวันนี้ 6 มี.ค. 67 ‘ทรงตัว‘ ตามทิศทางตลาดสหรัฐ

ค่าเงินบาทวันนี้ 6 มี.ค. 67 ‘ทรงตัว‘ ตามทิศทางตลาดสหรัฐ

ค่าเงินบาทวันนี้  6 มี.ค. 67 เปิดตลาด “ทรงตัว”ที่ 35.81 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นจากตลาดหุ้นสหรัฐปิดรับความเสี่ยง เศรษฐกิจสหรัฐภาคบริการแย่กว่าคาด และเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.70-36.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.81 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-36.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.75-35.88 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด  

ค่าเงินบาทวันนี้ 6 มี.ค. 67 ‘ทรงตัว‘ ตามทิศทางตลาดสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็สามารถรีบาวด์ขึ้นบ้าง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความเสี่ยง ด้วยการขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดในโซนแนวรับ 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ข้อมูลตลาดแรงงานในคืนนี้

นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งแม้ว่าเราจะประเมินว่า ประธานเฟดจะยังคงเน้นย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวัง ทำให้หากถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ตลาดเริ่มเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด (เลื่อนการเริ่มลดดอกเบี้ยไปจากการประชุมเดือนมิถุนายน) หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาด ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจยิ่งกดดันให้ตลาดขายหุ้นเทคฯ ใหญ่สหรัฐฯ ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก โดยในกรณีดังกล่าวนั้น เงินบาทก็มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่ในทางกลับกัน หากถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด อีกทั้งรายงานข้อมูลการจ้างงานก็ชะลอลงมากขึ้น ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อบ้าง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ลุ้นว่าจะทะลุโซนแนวต้าน 35.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ (แนวรับสำคัญถัดไปแถวโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์)

เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น ท่ามกลางแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่  นำโดย Microsoft -3.0%, Apple -2.8% โดยผู้เล่นในตลาดอาจทยอยลดความเสี่ยงลงบ้าง ก่อนรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสและรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.65% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.02% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.23% ตามแรงขายหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลจีนที่ไม่ได้ส่งสัญญาณออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อย่างที่ตลาดคาดหวัง ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มแบรนด์เนม หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลง อาทิ Hermes -1.5%, Rio Tinto -1.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML -1.5%  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.15% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ออกมาแย่กว่าคาด ขณะเดียวกันบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่ประเมินว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด ทำให้ การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่น ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อาจเกิดขึ้นได้ยาก และถ้าจะเกิดขึ้นได้นั้นอาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์เผชิญกดดันอยู่บ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาดและการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังพอช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นได้ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.6-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ  กอปรกับภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ยังพอช่วยให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถทรงตัวเหนือระดับ 2,130 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าจะเผชิญแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดออกมาบ้างก็ตาม

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) รวมถึงยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) พร้อมกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะช่วยในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด