ค่าเงินบาทวันนี้ 28 ก.พ. 67 ‘อ่อนค่า‘ เหตุเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 ก.พ. 67 ‘อ่อนค่า‘ เหตุเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 28 ก.พ. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เฟดยังย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย หนุนเงินดอลลาร์-บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น พร้อมโฟลว์ธุรกรรมซื้อทอง กดดันบาทอ่อนค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.84 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง ตามที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด 

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุด ทั้งยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ต่างออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างเข้าซื้อทองคำในจังหวะดังกล่าวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาทเรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down หลังปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ทยอยแผ่วลง อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในช่วงระหว่างวัน จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน หรือแม้กระทั่งโฟลว์ซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มอาศัยจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาทในการทยอยขายทำกำไรทั้งหุ้นและบอนด์ กดดันให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ง่ายนัก หากยังไม่มีปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน 

เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจนและแข็งค่าหลุดแนวรับดังกล่าว ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์

เรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวในระยะสั้นยังมีไม่มากนัก และอาจต้องรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ รวมถึงรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ที่ต้องออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน จนทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง ที่ระบุไว้ใน Dot Plot ขณะที่โซนแนวต้านยังคงเป็นช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาในช่วงนี้ 

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.17% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.18% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ ASML +1.1% นอกจากนี้ ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังได้ช่วยให้บรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ยานยนต์และเหมืองแร่ ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ Novo Nordisk -1.2% หลังบริษัทยาในสหรัฐฯ ได้รายงานผลการทดลองยาที่สามารถลดน้ำหนักได้ดีและอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของยาจาก Novo Nordisk 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย กอปรกับบรรยากาศโดยรวมในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.30% อีกครั้ง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด เริ่มออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ เราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้น อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังมุมมองของผู้เล่นในตลาดนั้นเหมือนกับสิ่งที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% ได้นั้น อาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีน้อยมากในปัจจุบัน ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่โดยรวมเงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้และเผชิญการลดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติม จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.6-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี  รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซน 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งในช่วงโซนราคาดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่บ้างและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2023 ครั้งที่ 2 รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน