ต้นเหตุที่แท้จริงของ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

ต้นเหตุที่แท้จริงของ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

"วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" และ "วิกฤติการเงินโลก" ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นมาจาการ "ปั่นราคา" หรือ "การเก็งกำไร" นั่นคือการทำให้ราคาสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งแพงขึ้นมาจนเกินราคาที่ควรจะเป็น

โดยที่ความแพงของมันนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างผลกำไรที่มากขึ้นให้กับ "นักลงทุน" แทนที่จะแพงเพราะความต้องการที่จะใช้สินค้านั้นจริงๆ ผลก็คือ "ฟองสบู่" คือราคาที่พองขึ้นมาจนเปราะบางมาก (เพราะไม่ตั้งยู่บนรากฐานที่แข็งแกร่ง) พร้อมที่จะแตกได้ทุกเมื่อถึงเกิดมีอะไรไปจิ้มมันเบาๆ 

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก็เหมือนกัน ถึงมันจะชื่อว่า Hamburger Crisis แต่มันไม่เกี่ยวอะไรกับของกิน มันมีต้นเหตุมาจากฟองสบู่ธุรกิจค้าบ้านในสหรัฐอเมริกาที่ถูกปั่นเหมือนกัน

แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ คนที่ปั่นให้เกิดฟองสบู่ธุรกิจบ้านอาจจะเป็นนักลงทุน แต่ตัวการที่ทำให้นักลงทุนมีเงินไปปั่นได้ คือภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ เอง

 

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เรื่องนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร?

1. ต้นเหตุมีหลายตัว แต่ตัวที่มีน้ำหนักที่สุดคือฟองสบู่ในธุรกิจบ้านของสหรัฐฯ ซึ่งระหว่างปี 1997 ถึง 2006 ราคาบ้านทั่วไปเพิ่มขึ้นถึง 124% คำถามก็คือทำไมราคามันถึงพุ่งขึ้นมา? ต้องย้อนกลับที่สาเหตุแรกเริ่ม นั่นคือหลังจากฟองสบู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ต (Dot-com bubble) ในปลายทศวรรษที่ 90 และความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ต้องทำการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังดิ้นรนด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยลดอัตราเงินกองทุนของรัฐบาลกลางจาก 6% ในเดือนมกราคม 2001 เหลือเพียง 1% ภายในเดือนมิถุนายน 2003 

2. การลดดอกเบี้ยส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเริ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูส่งผลให้ความต้องการบ้านเพิ่มขึ้นและตามมาด้วยการปล่อยสินเชื่อจำนองบ้าน หรือ mortgages มากขึ้น

เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำมากๆ ผลก็คอราคาบ้านเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และจากการเก็งกำไร ทั้งหมดมาจากการปล่อยสินเชื่อมากมายจากดอกเบี้ยที่ต่ำมากมาย แต่ถ้าราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าอัตราเงินเฟ้อ ราคาของมันจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว นั่นหมายความว่ามันพร้อมที่จะพังได้ทุกเมื่อ 

3. ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็เก็บเงินน้อยลงแถมยังก่อหนี้มากขึ้น หนี้ครัวเรือนสหรัฐฯ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้ส่วนบุคคลอยู่ที่ 127% ณ สิ้นปี 2007 เทียบกับ 77% ในปี 1990 ในช่วงปี 2008 ครัวเรือนทั่วไปในสหรัฐฯ มีบัตรเครดิต 13 ใบ และ 40% ของครัวเรือนมีหนี้ในบัตรเครดิต

4. แต่ที่หนักกว่านั้นคือ ทุกคนต้องการมีบ้าน และธนาคารก็ปล่อยเงินกู้ง่ายดายเกินไปโดยไม่พิจารณากำลังการจ่ายคืนสินเชื่อและสถานะหนี้ของลูกค้า โดยความเชื่อว่าราคาบ้านจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารจะล่อผู้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ ตามด้วยอัตราดอกเบี้ยในตลาดสำหรับระยะเวลาที่เหลือของการจำนอง การทำแบบนี้เรียกว่า Adjustable-Rate Mortgage (ARM) ข้อเสนอที่น่ายั่วยวนนี้ทำให้มีคนกู้เงินมาซื้อบ้านมากมาย 

5. ทำให้ตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2007 หนี้จำนอง (mortgage) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า และจำนวนหนี้จำนองต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 63% จาก 91,500 ดอลลาร์เป็น 149,500 ดอลลาร์ ในขณะที่อัตราค่าจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าลูกหนี้มีหนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ความสามารถในการจ่ายคืนน้อยลง แต่ธนาคารก็ยังปล่อยเงินกู้ให้กับลูค้าพวกนี้ ซึ่งเรียกกันว่า "เงินกู้นินจา" (NINJA Loan) คำว่า NINJA ไม่ได้หมายถึงนินจาในหนังญี่ปุ่น แต่มาจากคำว่า No Income, No Job, and No Assets Loan (เงินกู้ให้คนไม่มีรายได้ ไม่มีงาน และไม่มีสินเชื่อ)

6. ลักษณะของการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่ศักยภาพไม่ถึง นั่นคือพวก NINJA Loan แต่ยังยอมให้ดอกเบี้ยต่ำ เรียกว่า "สินเชื่อซับไพรม์" (Subprime lending) การยอมให้เงินกู้กับนั่นคือผู้กู้ที่มีประวัติเครดิตไม่ดี และมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ แถมยังไม่มีสินทรัพย์เอาไว้ค้ำประกัน แต่ธนาคารก็ยังปล่อยกู้ให้คนกลุ่มซับไพร์ม เพราะตลาดบ้านถูกปั่นว่าราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และการผูกกับ MBSs จะทำให้มั่นมั่นคงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน ทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อซับไพรม์ 

7. MBSs คืออะไร? มันคือหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนอง (Mortgage-backed security)  โดยการจำนอง หรือ mortgage จะถูกรวบรวม หรือจะเรียกให้ถูกคือ "มัดรวม" และขายให้กับกลุ่มบุคคล (หน่วยงานรัฐบาลหรือธนาคารเพื่อการลงทุน) ที่ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์หรือจัดแพคเกจเงินกู้รวมกันเป็นหลักทรัพย์ที่นักลงทุนสามารถซื้อได้ ปัญหาก็คือการเอาจำนองบ้านมาขายเป็นการลงทุนแบบนี้ ดันมีการ "มัดรวม" ซึ่งหมายถึงการรวมเอาทั้งจำนองซับไพร์ม (ที่เสี่ยงจะผิดชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยสูง) กับสินชื่อแบบไพร์ม (ที่มีเครดิตดี) เข้าด้วยกัน ทำให้มันน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน เพราะผลตอบแทนสูง แต่ก็ผูกกับการจำนองที่เครดิตดี 

8. นี่คือภาพลวงตาที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาให้มันดูดี ความจริงก็คือ มีบ้านถูกสร้างเอาไว้ขายมากเกินไป และยังจะขายให้กับพวกซับไพร์ม นอกจากกลุ่มซับไพร์มที่เสี่ยงจะชำระนี้ไม่ทันแล้ว ยังมีผู้กู้จำนวนมากไม่ได้กู้ซื้อบ้านมาอยู่ แต่ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร การกู้ยืมเพื่อเก็งกำไรมีมีสัดส่วนสูงมาก มีตัวเลขชี้ให้เห็นว่าจำนวนบ้านที่ถูกซื้อไปถึง 22%  (1.65 ล้านยูนิต) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน และอีก 14% (1.07 ล้านยูนิต) ที่ซื้อเป็นบ้านพักตากอากาศ ซึ่งหมายความว่าไม้ได้อยู่อาศัยถาวรและพร้อมที่จะขายทิ้งได้ตลอดเวลา 

9. แต่ผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระเงินที่สูงขึ้นได้เมื่อระยะเวลาจ่ายอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หรือ ARM สิ้นสุดลง จึงต้องรีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนองของตนหลังจากผ่านไปหนึ่งหรือสองปีหลังจากนั้น แต่เพราะราคาที่อยู่อาศัยที่ถูกลง ความสามารถในการรีไฟแนนซ์ของผู้กู้จึงยากขึ้น ผู้กู้จึงไม่สามารถหลีกหนีการชำระเงินที่สูงขึ้นโดยการรีไฟแนนซ์ ได้เริ่มผิดนัดชำระหนี้ ตอนแรกสถาบันการเงินสามารถยื้อสถานการณ์เอาไว้ได้เล็กน้อยด้วยการทำ Credit default swap นั่นคือจะมีการชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ซื้อในกรณีผิดนัดชำระหนี้โดยลูกหนี้ 

10. แต่การทำ Credit default swap เป็นช่องทางให้นักเก็งกำไรหาประโยชน์ได้อีก เช่นกรณีของ ไมเคิล เบอร์รี่ (Michael Burry) ผู้ก่อตั้งกองทุนเพื่อการเก็งกำไรที่ชื่อ Scion Capital ซึ่งเขาวิเคราะห์แนวโน้มการปล่อยเงินกู้ให้กับพวกซับไพร์มจนสามรถคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องว่าฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะล่มสลายในช่วงต้นปี 2007  ทำให้เขาเชื่อว่าการจำนองซับไพรม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ทำ ARM จะเริ่มชำระไม่ได้ ข้อสรุปนี้ทำให้เขาเก็งกำไรระยะสั้น หรือ short  โดยการชักชวน Goldman Sachs และบริษัทการลงทุนอื่นๆ ให้ขาย Credit default swaps ของสินเชื่อซับไพร์มที่มีโอกาสจะล้มให้กับเขา เพราะเขาหวังว่ามันจะล้มจริงๆ ในที่สุด และจะได้รับเงินชดเชย

11. การคาดการณ์ของ เบอร์รี่ เริ่มใกล้ความจริงเมื่อผู้กู้หยุดชำระเงินจำนองมากขึ้น จึงมีการยึดบ้านมากขึ้น ทำให้มีบ้านเหลือขายเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ราคาบ้านถูกลง ยิ่งทำให้เจ้าของบ้านที่เหลือมีรายได้ลดลงไปอีก เพราะบ้านที่ครอบครองขายไปก็ไม่ได้กำไรแถมยังจะขาดทุน ดังนั้นจึงยิ่งทำให้เกิกระแสแห่ขายทิ้ง ในส่วนของเมื่อผู้กู้ซับไพร์มเมื่อไม่จ่ายเงินจำนอง ทำให้สินทรัพย์ที่ค้ำกับเงินจำนองยิ่งมีมูลค่าลดลง ผลก็คือธนาคารมีความเสี่ยงด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งการปล่อยซับไพร์มและการไปยุ่งกับการค้าสินเชื่อที่อันตราย เช่น Credit default swap นี่คือวงจรอุบาทว์ที่เป็นตัวก่อให้เกิดวิกฤต

12. อัตราการยึดสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทำให้บ้านที่ถูกเสนอขายเพิ่มจำนวนขึ้นมาในตลาด แต่คนต้องการมันน้อยลงมากๆ ภายในเดือนมกราคม 2008 บ้านใหม่ที่ยังไม่ได้ขายอยู่ที่ 9.8 เท่าของปริมาณการขายในเดือนธันวาคม 2007  ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี นอกจากนี้ บ้านที่ถูกเสนอขายถึง 4 ล้านหลัง เป็นบ้านว่างประมาณ 2.2 ล้านหลัง  ภายในเดือนกันยายน 2008 ราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ ลดลงกว่า 20% จากจุดสูงสุดในช่วงกลางปี 2006 ราคาบ้านที่ลดลงอย่างมาก และเรื่องที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นนี้หมายความว่าผู้กู้จำนวนมากไม่สามารถใช้บ้านจำนองได้เพราะมูลค่าแทบไม่มี 

13. ทุกวิกฤตต้องมีจุดที่สะกิดให้มันระเบิด วิกฤตนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างระเบิดตูมก็คือการที่ราคาบ้านในสหรัฐฯ มาถึงจุดสูงสุดในกลางปี 2006 หลังจากนั้นก็ดิ่งลงเรื่อยๆ ผลก็คือ MBS รวมถึงการจำนองซับไพรม์ที่บริษัทการเงินทั่วโลกถือครองอย่างกว้างขวาง สูญเสียมูลค่าส่วนใหญ่ไป นักลงทุนทั่วโลกยังลดการซื้อหนี้ค้ำประกันและหลักทรัพย์อื่นๆ ลงอย่างมาก

14. นานวันเข้า สถาบันการเงินและธนาคารก็เริ่มขาดสภาพคล่อง ตัวการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ ธนาคาร Fannie Mae และ Freddie Mac เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (GSE) ซึ่งซื้อการจำนอง ซื้อและขายหลักทรัพย์ที่มีการจำนอง (MBS) และรับประกันเกือบครึ่งหนึ่งของการจำนองในสหรัฐอเมริกา 

15. สัญญาณไม่ดีเริ่มต้นขึ้นในระหว่างปี 2007 เหยื่อรายแรกๆ ปรากฏตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2007 เมื่อ HSBC หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศตัวเลขเสียหายจากหนี้เสียที่สูงมากกว่าคาดการณ์ถึง 20% ภายในเดือนเมษายน 2007 บริษัทจำนองมากกว่า 50 แห่งได้ประกาศล้มละลาย และอีกอย่างน้อย 100 แห่งปิดตัวลง ระงับการดำเนินงาน หรือถูกขายไปในระหว่างปี 2007  

16. ในที่สุดวิกฤตก็ชัดขึ้น เมื่อธนาคารเพื่อการลงทุน Bear Stearns ธนาคาที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ล้มลงจนต้องถูกขายฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2008 ให้กับธนาคาร JP Morgan Chase  ด้วยความช่วยเหลือจากการค้ำประกันมูลค่า 29,000 ล้านดอลลาร์จากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด แต่นี่เป็นจุดเริ่มที่ทำให้สังคมเริ่มไม่พอใจที่ภาครัฐนำเงินภาษีไปช่วยอุ้มสถาบันการเงินที่ล้มเหลวเพราะตัวเองผิดพลาดจากการเก็งกำไรเอง แถมยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศซวยไปด้วย 

17. ภายในเดือนสิงหาคม 2008  มันลามไปทั่วโลกในที่สุด บริษัททางการเงินทั่วโลกได้ลดการถือครองหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์ลงเป็นจำนวน 501,000 ล้านดอลลาร์ IMF ประเมินว่าในที่สุดสถาบันการเงินทั่วโลกจะต้องตัดการถือครอง MBS ซับไพรม์ของตนจำนวน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในที่สุด มันทำให้เงินทุนของธนาคารทั่วโลกหายไปในพริบตา ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงทุนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน หมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซาลงในทันที

18. วิกฤตดังกล่าวกระทบถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด โดนเฉพาะในสหรัฐ ในเดือนกันยายน 2008  สถาบันการเงินต้องล้มลง หรือถูกซื้อกิจการ ธนาคารเพื่อการลงทุน Lehman Brothers ล้มเหลว ในขณะที่ Merrill Lynch ถูกซื้อโดย Bank of America ธนาคารเพื่อการลงทุน Goldman Sachs และ Morgan Stanley ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้สามารถขอสินเชื่อฉุกเฉินจากธนาคารกลางสหรัฐได้ วิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล Fannie Mae และ Freddie Mac ถูกยึดครองโดยรัฐบาลกลาง แม้แต่บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่อย่าง AIG ก็โดนไปด้วย เพราะขายหลักทรัพย์ค้ำประกันในลักษณะเดียวกับการประกันภัยแต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงิน

19. การที่สถาบันกหารเงินล้มลงเรื่อยๆ แบบนี้ ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ คือ เฮนรี พอลสัน และประธานเฟด เบน เบอร์นันเก้ ได้เข้าพบกับสมาชิกสภานิติบัญญัติคนสำคัญเพื่อเสนอเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับระบบธนาคารมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่18 กันยายน 2008 ซึ่งสถานการณ์กำลังวิกฤติสุดๆ แล้วในเวลานั้น มีรายงานว่า เบอร์นันเก้ บอกกับพวกเขาว่า

"หากเราไม่ทำเช่นนี้ เราอาจจะไม่มีเศรษฐกิจ (ของประเทศเหลืออยู่อีก) ในวันจันทร์" เท่ากับเป็นการกดดันให้รัฐสภาต้องเร่งหาเงินมาช่วยอุ้มสถาบันการเงิน

20. แม้ว่าในที่สุดจะมีการผ่านกฎหมายช่วยเหลือสถาบันการเงิน แต่มันทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน เพราะเงินที่นำไปช่วยสถาบันการเงินเหล่านั้นคือเงินจากผู้เสียภาษีของสหรัฐอเมริกาที่เกิน 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่ต้องถูกนำไปชำระหนี้การลงทุนที่ผิดพลาดของสถาบันการเงินเหล่านั้น แต่รัฐบาลพยายามที่จะบอกว่า สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยให้ล้มไม่ได้ เพราะมันจะลากเอาเศรษฐกิจของประเทศให้พังไปด้วย จนกลายเป็คำฮิตในเวลานั้นว่า Too big too fail หรือสถาบันการเงินเหล่านั้นใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้

21. โดยรวมแล้ว วิธีการแก้ปัญหาคือธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ธนาคารมีกำไรมากขึ้นในการกู้ยืม มีการมอบส่วนลดภาษี (แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ) ให้กับผู้เสียภาษีของสหรัฐฯ เจ้าของบ้านได้รับความช่วยเหลือในการจัดหาเงินทุนจำนองใหม่ บริษัทแต่ละแห่งได้รับการช่วยเหลือ และในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2008 ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาระดับโลกอย่างครอบคลุมเพื่อ "เพิ่มทุน" แก่ธนาคาร (เช่น จัดหากองทุนผู้เสียภาษีเพื่อแลกกับการจ่ายเงินปันผลเป็นระยะ)

22 แม้จะแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีผลกระทบที่ตามมาก็คือสิ่งที่เรียกว่า Great Recession นั่นคือ ภาวะถดถอยทั่วโลก ที่ตามมาส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก การว่างงานเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ จนทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นการแจกเงินโดยรัฐหรอืการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยรัฐ วิกฤตนี้จะกินเวลานานถึง 19 เดือน ระหว่างเดือน ธันวาคม 2008  – มิถุนายน 2009 แต่กว่าที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต้นเหตุ คือสหรัฐฯ จะกลับมาเกือบเท่าปกติจะกินเวลาถึงระหว่างปี 2011 - 2012 

23. แต่ดูเหมือนว่าท่ามกลางความพังพินาศจะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์มหาศาล นั่นคือ ไมเคิล เบอร์รี่ ซึ่งหลังจากที่เขาชักชวนนักลงทุนให้เชื่อตามเขาวาซับไพร์มจะล้มแน่ๆ ก็มีนักลงทุนเชื่อตามเขาบางส่วนแล้วนำไปซื้อ Credit default swaps แต่ไม่นานนักนักลงทุนบางรายในกองทุนของเขากังวลว่าการคาดการณ์ของเขาไม่ถูกต้องและเรียกร้องให้ถอนเงินทุนออก ซึ่งทำให้เบอร์รี่ เกือบจะล้มเสียเอง แต่ในที่สุด การวิเคราะห์ของเบอร์รี่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง หลังจากการล้มลงของสถุานบันการเงินและเกิดวิกฤตซับไพร์ม เขาทำกำไรส่วนตัวได้ 100 ล้านดอลลาร์ และทำกำไรให้นักลงทุนที่เชื่อตามเขาได้มากกว่า 700 ล้านดอลลาร์ ส่วน สุด Scion Capital ก็มีผลตอบแทนไว้ที่ 489.34% (สุทธิจากค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2000 ซึ่งเป็นวสันก่อตั้งจนถึงเดือนมิถุนายน 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตกำลังพีค