ทองคำไทยยืนหนึ่งในอาเซียน ทะยานแตะอันดับ 7 ของโลก มูลค่าซื้อขายทะลุ 5 ล้านล้านบาทต่อวัน

ทองคำไทยยืนหนึ่งในอาเซียน ทะยานแตะอันดับ 7 ของโลก มูลค่าซื้อขายทะลุ 5 ล้านล้านบาทต่อวัน

มูลค่าซื้อขายรวมตลาดทองคำไทยพุ่งเกิน 5 ล้านล้านบาทต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ยืนหนึ่งในอาเซียน วอลุ่มหลักมาจากการเทรดทองคำออนไลน์สูงถึง 65%

พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยว่าปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายรวมในตลาดทองคำของประเทศไทยอยู่ที่มากกว่า 5 ล้านล้านบาท ต่อวัน โดยถือเป็นมูลค่าการซื้อขายอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน

โดยมูลค่าการซื้อขายดังกล่าวมาจากทองคำกายภาพรวมกับการซื้อขายทองคำดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสัดส่วนของการซื้อขายทางกายภาพอยู่ที่ 35% และ 65% มาจากมูลค่าการซื้อขายทองคำดิจิทัลซึ่งเป็นการซื้อขายเพื่อการลงทุน ที่ตลาดทองคำได้พัฒนาระบบการซื้อขายบนบล็อกเชน ทำให้สามารถเกิดความคล่องตัวในการซื้อในหน่วยที่เล็กมากเพียง 0.0001 กรัม หรือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท
 

ทองคำไทยยืนหนึ่งในอาเซียน ทะยานแตะอันดับ 7 ของโลก มูลค่าซื้อขายทะลุ 5 ล้านล้านบาทต่อวัน พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  YLG

นอกจากนี้ พบว่ามูลค่าการซื้อขายทองคำในระบบออนไลน์ยังมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) โดยมีมูลค่าการซื้อขายต่อวันประมาณ หนึ่งล้านสี่แสนล้านล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากตลาดฟิวเจอร์สเป็นการเข้าถึงการเทรดในตลาดระดับโลก เช่น การซื้อขายผ่าน Tradingview ด้วยบัญชี YLG Futures ที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนฟิวเจอร์สในตลาด CME Group ตลาดฟิวเจอร์สอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐ ที่มีสินค้าที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกครอบคลุม ทองคำ น้ำมันดิบ ดัชนีหุ้นสหรัฐ สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้น และขาลง  อีกทั้ง สามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดของประเทศไทย  ซึ่งจุดเด่นของการลงทุนทองคำในฟิวเจอร์สคือ สามารถลงทุนได้ทั้งในช่วงตลาดขาขึ้น และขาลง

สำหรับแนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดทองคำในปีนี้ ระยะสั้นมองว่ายังเป็นการแกว่งตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดเดิมของเดือนธ.ค.2566 ที่ระดับ 1,973 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มมีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะลดลงไตรมาสแรก ออกไปเป็นไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ทองคำได้รับแรงกดดัน  

โดยภาพระยะยาวในปี 2567 มองแนวรับแรกไว้ที่โซน 1,902-1,884 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.ค.2566 และเดือนก.ย.2566 ตามลำดับ)  และแนวรับถัดไปในโซน 1,804-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวรับแรกราคามีโอกาสยืนได้ โดยมองว่าช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวก และหากราคาปรับตัวผ่านระดับ 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากทำระดับสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้ รอบนี้แนวต้านถัดไปมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงบริเวณ 2,200-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์