‘เครดิตบูโร’ ห่วงหนี้ระเบิด ‘รถยนต์ - บ้าน‘ ค้างชำระหนี้พุ่ง 4 แสนล้าน

‘เครดิตบูโร’ ห่วงหนี้ระเบิด ‘รถยนต์ - บ้าน‘ ค้างชำระหนี้พุ่ง 4 แสนล้าน

“สุรพล” เครดิตบูโร ชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นวิบากกรรม “หนี้ครัวเรือน” “หนี้เสียรถยนต์” พุ่ง 2.3 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 28% ขณะที่ “หนี้บ้าน” น่าห่วงเป็นหนี้เสียแล้ว 1.8 แสนล้าน ค้างชำระหนี้อีก 1.78 แสนล้าน เพิ่ม 31% ฉุดเศรษฐกิจไทยติด 3 บ่วง

หากดูภาพรวม “หนี้ครัวเรือนไทย” ถือว่ายังอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.199 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี ซึ่งยังมีอัตราเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมาถึง 3% นอกจากการเร่งตัวหนี้ครัวเรือนยังมีมติอื่นๆ ที่น่าห่วงมากขึ้น หากดูไปถึง “คุณภาพ” หนี้ครัวเรือนไทย

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันนี้เศรษฐกิจไทย แม้จะออกจาก “วิบัติ” จากโรคระบาด แต่กำลังอยู่ใน “วิบาก” ของการใช้หนี้เราพูดมาโดยตลอดว่า เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ หรือความจริงเรามีศักยภาพต่ำในการผลักดันให้การเติบโต ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังคงต้องอยู่กับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง

หากดูไส้ในของหนี้ครัวเรือนไทย บนข้อมูลของเครดิตบูโร ที่รวมหนี้ทั้งระบบทั้งสถาบันการเงิน นอนแบงก์ และแบงก์รัฐ ในไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 13.683 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.7% หากเทียบกับปีก่อน สะท้อนหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังมีทิศทางเติบโตได้ต่อเนื่อง

โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อเครดิตการ์ด และสินเชื่อบุคคล ยังคงขยายตัวได้
หากดูถึง “คุณภาพ” หนี้ครัวเรือน พบว่าคุณภาพแย่ลงต่อเนื่อง โดยหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ระดับสูง ที่ระดับ 1.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียรวมระดับ 7.7%

‘เครดิตบูโร’ ห่วงหนี้ระเบิด ‘รถยนต์ - บ้าน‘ ค้างชำระหนี้พุ่ง 4 แสนล้าน ที่น่าสังเกตคือ หนี้เสียหลายพอร์ตมีความเร็วในการโตมากขึ้น โดยเฉพาะ “สินเชื่อรถยนต์” ที่ล่าสุด หนี้เสียมาอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ถัดมาคือ หนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตการ์ด และสินเชื่อบุคคล ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงถึง 12% ทำให้พอร์ตหนี้เสียโดยรวม ของเครดิตการ์ดมาอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อบ้าน หนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7%

ถัดมา สินเชื่อค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่า กลุ่ม SM หลายพอร์ตยังน่าห่วงมากขึ้น โดยหนี้ค้างชำระโดยรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และพอร์ตที่ค้างชำระมากสุดในปี 2566 คือ สินเชื่อบ้าน ที่มีหนี้มีปัญหาถึง 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดถึง 31.1% จากปีก่อน

ขณะที่อาการของสินเชื่อบุคคล (พีโลน) ก็แย่พอกัน โดยมีหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นถึง 24% หรือ 1.45 แสนล้านบาท สินเชื่อรถ มีสินเชื่อที่ค้างชำระรวมอยู่ที่ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6%

หากดูไส้ในของหนี้ค้างชำระทั้งหมดใน 6 แสนล้านบาท เป็นพอร์ตที่อยู่กับแบงก์รัฐถึง 68% หรือ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ 34% และสินเชื่อพีโลน 24%

“คุณภาพหนี้วันนี้ยังน่าห่วง ทั้งหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระ โดยเฉพาะหนี้ที่กำลังมีปัญหา ที่วันนี้สะท้อนอาการของคนที่ผ่อนไม่ไหวเพิ่มขึ้น ในนี้ มีหนี้ที่มีปัญหาจาก สินเชื่อบ้านถึง 31% และใน 1.8 แสนล้านบาทนี้ มี 1.2 แสนล้านบาท ที่มีปัญหาจากผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท วันนี้อาการเหล่านี้ชัดเจนขึ้น เราเคยเห็นอาการของคนผ่อนรถไม่ไหว ก็คืนรถ ให้ยึดไป แต่ตอนนี้ปัญหามาอยู่ที่คนผ่อนบ้าน ผ่อนไม่ไหวมากขึ้น ซึ่งน่าห่วง”


นายสุรพล ยังฉายภาพของ หนี้ครัวเรือนไทย ในมุมของ “ยอดปรับโครงสร้างหนี้”  ปี 2566 มีการเร่งตัวสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งจากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อได้รับประโยชน์ในการจัดชั้นการตั้งสำรอง ก่อนที่มาตรการฟ้าส้มธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหมดอายุในสิ้นปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้ยอดปรับโครงสร้างหนี้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงถึง 33% หากเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ยอดปรับโครงสร้างหนี้โดยรวมอยู่เพียง 7.8 แสนล้านบาท และพบยังเพิ่มขึ้น หากเทียบกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 9.9 แสนล้านบาท

ที่น่าสังเกตคือ หนี้ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา คือ สินเชื่อบ้านยอดปรับโครงสร้างหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.78 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่เพียง 2.3 แสนล้านบาท ส่วนหนี้อื่นๆ ก็มียอดปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น สินเชื่อรถ ที่มียอดปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น 5.3% มาอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท บัตรเครดิต 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3%
 

“เราได้แต่หวังการที่แบงก์เร่งปรับโครงสร้าง จะทำให้หนี้ที่มีปัญหา เช่น สินเชื่อบ้านจะไม่ระเบิด แต่หนี้ที่ยังสูงต่อเนื่องจะทำให้ต้องเผชิญหนี้ครัวเรือนที่จะค้าง และอยู่กับเรานานพอสมควร เดิมที่หลายฝ่ายคาดให้หนี้ครัวเรือนลดลงเหลือระดับ 80% ภายใน 3 ปี ตอนนี้อาจไม่ได้แล้ว”


หากแยกดูหนี้เสียที่มาจากผลกระทบโควิด-19 หรือลูกหนี้ในรหัส 21 โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 3.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% จากปีก่อน ที่มียอดหนี้เสียจากโควิดเพียง 3.35 แสนล้านบาท กลุ่มหลักๆ ที่เป็นหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ถึง 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 43.7% สินเชื่อบ้านหนี้เสียเพิ่มขึ้น 28.4% หรือยอดหนี้เสียรวม 5.8 หมื่นล้านบาท

สุดท้ายมองหนี้ครัวเรือนวันนี้อาการเหมือนคนเมาค้างที่อาการเมามีมาก กินเวลานานกว่าที่คิด ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยจะยังค้างอยู่ในระดับสูงแบบนี้ไปอีกนาน และไม่ได้ลดลงง่ายเหมือนที่คิด เรายังเผชิญกับ “ฝีแตก” ในสินเชื่อรถยนต์จากปัญหาหนี้เสีย การค้างชำระหนี้ที่ขึ้นมาสู่ระดับพีคที่สร้างความเสียหายให้กับทั้งแบงก์ และลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้าย หนี้บ้านที่มีอาการไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์