รู้แล้วบอกต่อ…การคุ้มครองสิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้ | พรเพ็ญ สดศรีชัย

รู้แล้วบอกต่อ…การคุ้มครองสิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้ | พรเพ็ญ สดศรีชัย

ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้เกริ่นถึง “มาตรการแก้หนี้ยั่งยืนแบบครบวงจร” ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบในการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ โดยการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ลูกหนี้เริ่มมีปัญหา

เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และมีเงินเหลือพอในการดำรงชีพ โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมา สำหรับการแก้ปัญหาลูกหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้โดยไว ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 นั้น

ผู้เขียนจะขอขยายความในช่วงเวลาใกล้ๆ สำหรับวันนี้ขอบอกต่อเรื่องราวดีๆ ใกล้ตัวที่สำคัญก่อน คือ “การคุ้มครองสิทธิที่ลูกหนี้ควรรู้” ซึ่งหลายเรื่องมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีนี้แล้วค่ะ

ที่จริงแล้ว ธปท.ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 ได้มีการกำหนดอัตราสูงสุด (max) ที่ผู้ให้บริการสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บตามสัญญาได้ไม่เกิน 3% ต่อปี

และให้คำนวณจากยอดเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระเท่านั้น (จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดาน และคำนวณจากฐานเงินต้นคงเหลือทั้งหมด)

ในปี 2565 ยังได้กำหนดหลักการเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและเบี้ยปรับให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น ไม่เรียกเก็บซ้ำซ้อน สะท้อนต้นทุนจริงการให้บริการ มีการกำหนดฐานการคำนวณค่าบริการและเบี้ยปรับอย่างเหมาะสม รวมถึงเก็บค่าบริการตามช่วงเวลาที่ให้บริการจริง

ปัจจุบัน ธปท.ได้ห้ามผู้ให้บริการเรียกเก็บ “prepayment fee” หรือค่าปรับ จากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (การปิดหนี้ ก่อนวันที่ตกลงไว้ในสัญญา) จากสินเชื่อหลายประเภท คือ

1.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

2.สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano finance)

3.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

4.สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และ

5.สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น สินเชื่อสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ครอบคลุมถึงสัญญาเก่าที่ยังมีผลอยู่ด้วย

ส่วนการยกเว้น มีเพียงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ผู้ให้บริการยังเรียกเก็บ prepayment fee ได้ในช่วง 3 ปีแรกนับจากวันทำสัญญา เพื่อให้ลูกหนี้ มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ (teaser rate) ในช่วง 3 ปีแรก

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ 1 ก.ค.2567 เป็นต้นไป ธปท.ยังห้ามผู้ให้บริการคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย (รวมกรณีบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (overdraft) ด้วย

ที่สำคัญ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ด้าน “การโฆษณาของผู้ให้บริการ” ดังนี้

1.“ถูกต้องและชัดเจน” หมายถึง ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลที่สำคัญ เข้าใจง่าย ไม่บิดเบือน หรือทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และสำหรับกรณีการโฆษณาดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจลูกค้า ผู้ให้บริการต้องแสดงเงื่อนไขที่สำคัญอย่างครบถ้วนในสื่อชิ้นเดียวกัน

2.“ครบถ้วนและเปรียบเทียบได้” หมายถึง ผู้ให้บริการต้องแสดงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective rate) ต่อปี เป็นช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดถึงสูงสุด (min%-max%) อย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ให้แสดงคำเตือนว่า “อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้” 

กรณีที่ผู้ให้บริการแสดงข้อมูลผ่อนชำระเพื่อจูงใจลูกค้า เช่น “ผ่อนหมื่นละ 10 บาทต่อวัน” ก็ต้องแสดงข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณ ได้แก่ เงินต้น อัตราดอกเบี้ย จำนวนดอกเบี้ยทั้งสัญญา ค่างวด และระยะเวลาผ่อนชำระคืน

เช่น “เงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 25% ดอกเบี้ยทั้งสัญญา 7,200 บาท ค่างวด 300 บาทต่อเดือน ผ่อนนาน 5 ปี” เป็นต้น เพื่อที่ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยได้

3.“ไม่กระตุ้นก่อหนี้เกินควร” หมายถึง ผู้ให้บริการห้ามโฆษณากระตุ้นก่อหนี้เกินควร เช่น “Brand name อยากได้ ต้องได้” เป็นต้น และเพิ่มคำเตือนเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน (nudge)

โดยกรณีสินเชื่อรายย่อย ก็ให้แสดงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็น และชำระคืนไหว” ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต ก็ให้แสดงคำเตือน “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย (min%-max%)” รวมทั้งยังห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ

กรณีลูกหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการทางการเงิน จะทำอย่างไร

ให้ลูกหนี้รีบติดต่อหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ใช้บริการ เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องให้หลักฐานที่แสดงว่าได้รับเรื่องร้องเรียนของลูกหนี้ไว้แล้ว และจะแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบในเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง (SLA)

- หากลูกหนี้ยังไม่ได้รับการติดตามแก้ไขปัญหาให้เท่าที่ควร ลูกหนี้สามารถติดต่อร้องเรียนและขอคำปรึกษาปัญหาทางการเงินได้ที่ ธปท. โทร 1213 โดยลูกหนี้ต้องให้ข้อเท็จจริงและเอกสารประกอบการพิจารณา โดย ธปท.จะประสานระหว่างผู้ร้องเรียนและสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาและติดตามความคืบหน้าของเรื่องร้องเรียนต่อไป

ในปี 2567 ธปท.จะเน้นการตรวจสอบสถาบันการเงิน ด้านการปฏิบัติตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ อาทิ โฆษณาโดยไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร การให้ข้อมูลคำเตือนพร้อมดอกเบี้ยที่ถูกต้อง การให้สินเชื่อที่ลูกหนี้จ่ายไหว และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ

ธปท.จะใช้วิธีหรือเครื่องมือติดตามตรวจสอบอย่างรอบด้าน ทั้งการตรวจสอบสถาบันการเงินประจำปี การประเมินคุณภาพการให้บริการจากข้อมูลต่างๆ เช่น เรื่องร้องเรียน การแจ้งเบาะแส เป็นต้น รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลบน social media ที่เกี่ยวกับการให้บริการของเจ้าหนี้

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความคุ้มครองสิทธิให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ยั่งยืน สำหรับข้อมูลการให้ความรู้ทางการเงิน การแก้หนี้ยั่งยืนและการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้นั้น สามารถดูรายละเอียดได้จาก “สตางค์ story” และ “Media briefing แบงก์ชาติชวนคุย #แก้หนี้ยั่งยืน” ใน web site ธปท.นะคะ

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด