ดีเอสไอ โต้คดี ‘สตาร์ค’ ชะงัก เตรียมสอบเพิ่ม 4 ราย ส่งอัยการ 8 ก.พ. นี้

ดีเอสไอ โต้คดี ‘สตาร์ค’ ชะงัก  เตรียมสอบเพิ่ม 4 ราย ส่งอัยการ 8 ก.พ. นี้

คดี “สตาร์ค” ยังไม่จบ ผู้ถือหุ้นกว่า 200 คนร้อง “ดีเอสไอ” สืบสวนเพิ่มเติมเอาผิดคดีทุจริตกับผู้กระทำความผิดเพิ่ม ด้าน "ดีไอเอส" รับข้อมูลผู้ถือหุ้น เตรียมขยายผลเส้นทางทรัพย์สิน คาดแล้วสอบเสร็จ 7 ก.พ.67 นี้ ก่อนส่งให้ “อัยการ” ชี้ชะตาฟ้อง 4 ผู้กระทำความผิดเพิ่มเติมหรือไม่

มหากาพย์การสืบสวนสอบสวนที่กินระยะเวลายาวนาน สำหรับคดีในวงการ “ตลาดทุนไทย” ต้องยกให้ “STARK” บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ระยะเวลานานเกือบ 1 ปี ที่ยังไม่สามารถปิดจบคดีได้ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือ และผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยจำนวนมาก

หากย้อนดูความคืบหน้าคดีที่ผ่านมาเมื่อ 5 เดือนก่อน "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" รับ STARK เป็นคดีพิเศษ และมีคำสั่งฟ้อง 11 ผู้กระทำความผิด จน 12 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริต STARK จำนวน 7 ราย ขณะที่ผู้ต้องหาที่เหลือ อัยการสั่งให้ดีเอสไอทำการสอบสวนเพิ่มเติม ยกเว้นนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ที่ไม่มีคำสั่งฟ้อง
 

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า หลังจากผู้ถือหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ร้องดีเอสไอให้มีการสืบสวนคดีใหม่ เบื้องต้น ดีเอสไอรับทราบแล้ว และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความเห็น หรือเบาะแสอื่นๆ เพิ่มเติม จากผู้ถือหุ้น และยืนยันว่าข้อมูลที่ได้มาจะนำไปสู่การขยายผล และสอบสวนเกี่ยวกับเส้นทางทรัพย์สินเพิ่มเติม

ส่วนความคืบหน้าที่มีการส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการไปแล้วนั้น มีการสอบสวนใน 22 ประเด็น โดย 20 ประเด็นมีการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีอีก 2 ประเด็นที่อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม โดยกระบวนการสอบสวนทั้งหมดจะต้องให้แล้วเสร็จในวันที่ 7 ก.พ.67 นี้ โดยจะส่งสำนวนเพิ่มเติมให้อัยการ เพื่อให้อัยการลงความเห็นว่าจะฟ้องผู้กระทำผิดเพิ่มเติมหรือไม่ ในวันที่ 8 ก.พ.2567 นี้

นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความของผู้เสียหายในคดีหุ้น STARK กล่าวว่า การรวมตัวของผู้ถือหุ้นกู้กว่า 200 คน วานนี้ (30 ม.ค.67) เพื่อขอความชัดเจนจากดีเอสไอในหลายประเด็น ที่เกี่ยวกับ STARK ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นกู้ และกระทบต่อภาพรวมการลงทุนระยะข้างหน้า โดยหลังจากพบดีเอสไอ มีความชัดเจนในหลายประเด็นที่จะนำไปขยายผลเพิ่มเติม และหาผู้กระทำความผิดต่อไป  

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่ผู้ถือหุ้นตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมและส่งให้กับดีเอสไอ คือ การสั่งฟ้องของดีเอสไอ ล่าสุดมีเพียง 7 รายเท่านั้น และไม่ได้มีคำสั่งฟ้อง 1 ราย คือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี ส่วนบุคคลที่เหลือ ที่ดีเอสไอสั่งฟ้องไปแล้ว อัยการกลับยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแต่อย่างใด จากก่อนหน้าที่ดีเอสไอมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 11 คน ซึ่งรวมถึงนายชนินทร์ เย็นสุดใจ, นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม, นางสาวยสบวร อำมฤต

จากการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการ พบว่ามีการไม่สั่งฟ้องนายชินวัฒน์ อัศวโภคี จากดีเอสไอตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งไม่มีการแจ้งผู้เสียหาย นอกจากนี้ พยานหลักฐานในสำนวนประกอบความเห็นสั่งฟ้องนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และพวกที่เหลือยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ทางอัยการจึงสั่งดีเอสไอให้สอบสวนเพิ่มเติม

จากข้อมูลข้างต้น สร้างความกังวล และสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมต่อบรรดาผู้ถือหุ้นอย่างมาก เพราะผู้ต้องหาทุกรายมีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงกระทำความผิด และมีหลักฐานชัดเจนว่านายชินวัฒน์ เป็นผู้ลงนามในเอกสารรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้ ร่วมกับนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ดังนั้น เพราะเหตุใดดีเอสไอจึงไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และสั่งฟ้องนายชินวัฒน์

รวมถึงกรณี STARK มีการแต่งตั้งอดีตผู้บริหารระดับสูงของดีเอสไอให้เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แทน นายชนินทร์ ผู้ต้องหาหลบหนี จึงเป็นข้อสังเกตว่าน่าจะเคลือบแคลงสงสัย เกรงว่าจะเป็นเหตุนำไปสู่ความไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม จึงต้องการคำชี้แจง และข้อเท็จจริงจากดีเอสไอ

นำมาสู่การตั้งคำถาม 17 ข้อ ที่ร้องขอให้ดีเอสไอชี้แจง เช่น การสอบสวนของดีเอสไอในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เหตุใดสำนวนหลักฐานถึงไม่เพียงพอในการฟ้องนายวนรัชต์ นายชินวัฒน์ และพวกที่เหลือได้ หรือมีการแทรกแซงกระบวนการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหาบางรายพ้นผิดหรือไม่

และการที่ STARK มีคำสั่งว่าจ้างบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด เพื่อทำการสืบสวนหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง แต่ท้ายที่สุด บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างได้มีการทำหนังสือยกเลิกสัญญาไปยัง STARK โดยไม่ดำเนินการตามขอบเขตตามสัญญาว่าจ้าง ส่งผลให้ขาดข้อมูลสำคัญที่ครบถ้วนในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ทันท่วงที และการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลต่อการพิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหารายใดรายหนึ่งหรือไม่ นำไปสู่การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ครบหรือไม่  

รวมไปถึงการที่ดีเอสไอไม่ฟ้องนายชินวัฒน์ เพราะเหตุใด แม้มีข้อเท็จจริงว่า ชินวัฒน์ เป็นกรรมการ STARK ตั้งแต่ปี 2562-2566 และเหตุใดไม่มีการขยายผลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสั่งโอนเงิน รับเงินโอน เพื่อตกแต่งทางบัญชี ตามเส้นทางการเงินของ ปปง. ทั้งที่ร่วมกันทำธุรกรรมการเงินตกแต่งบัญชี 

ส่วนกรณีที่ นายวนรัชต์ ขึ้นศาลแพ่งล่าสุด ถือเป็นสัญญาณที่ดีกับผู้ถือหุ้นที่จะได้รับการชำระคืนหุ้นกู้อย่างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว หลังนายวนรัชต์ สั่งทนายไม่สู้คดี และพยายามหาทรัพย์สินมาคืนผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่ทั้งหมดยังไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมายจะมีน้ำหนักก็ต่อเมื่อลงมือทำให้เห็นผลบังคับทางกฎหมาย

ประเด็นเหล่านี้สำคัญต่อตลาดทุนไทย และเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะตั้งแต่เกิดกรณี STARK ส่งผลให้ตลาดทุนค่อยๆ ล้ม หรือขาดความเชื่อมั่นลงต่อเนื่อง ตลาดหุ้นกู้เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ทำให้ต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป และพบว่ามีหุ้นกู้ที่โรลโอเวอร์ยากขึ้น ทำให้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ตามมาในอนาคตมากขึ้น

ดังนั้น หากกรณี STARK ยังมีความไม่ชัดเจน หรือได้รับการแก้ไข ให้เกิดความเชื่อมั่นในตลาดทุนมากขึ้น อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในระยะข้างหน้ามากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์