ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ม.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-แรงขายทองทำกำไร

ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ม.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-แรงขายทองทำกำไร

ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ม.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดเริ่มไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ดอลลาร์อ่อนค่า และมีแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง รอจับตาประชุมเฟดในวันพฤหัสนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.25-35.55 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.38 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.58 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.55 บาทต่อดอลลาร์ 

 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.38-35.60 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังได้ปรับลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ (Long USD) ลงบ้าง ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ และนอกเหนือจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจพิจารณาขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 

ค่าเงินบาทวันนี้ 30 ม.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-แรงขายทองทำกำไร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นแผ่วลงจริง ตามที่เราได้ประเมินไว้ (ซึ่งเราได้ Call Short-term Peak ของเงินบาทแถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา) ทว่า เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราประเมินไว้ หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับแรกแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งจะกลายมาเป็นโซนแนวต้าน) ทำให้เรามองว่า ในช่วงนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ ทดสอบโซนแนวรับถัดไป 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ในสหรัฐฯ รวมถึงรอลุ้นว่า นักลงทุนต่างชาติจะทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยได้ต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนี้ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด (ขายทำกำไรและลดสถานะ Long USD)

ทั้งนี้ เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด และยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง 

 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้อาจออกมาสดใสและสะท้อนการเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ Microsoft +1.4% (ประกาศผลการดำเนินงานคืนนี้) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.12% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.76%

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.21% หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ทั้งเฟดและ ECB จะมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ได้ (ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ประเมินการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2) ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้ช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ได้รายงานผลประกอบการที่สดใสก่อนหน้า อาทิ SAP +1.3%, ASML +1.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell +0.9% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้ ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการปรับสถานะถือครองบอนด์ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาสดใส อย่างในช่วงก่อนหน้า หรือ เฟดมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้เร็ว ตามการกลับไปเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมอีกครั้งของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยการปรับสถานะดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.08% อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด และการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-103.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวโซน 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งการรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้ 

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งยูโรโซน ทั้ง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB 

 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Microsoft และ Alphabet โดยในช่วงนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร