ธนาคารไทยเครดิต IPO แบงก์ในรอบ 10 ปี พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

ธนาคารไทยเครดิต IPO แบงก์ในรอบ 10 ปี พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

ทำความรู้จัก ธนาคารไทยเครดิต หรือหุ้น CREDIT ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี ชูจุดเด่นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน และ NIM สูงสุดในอุตสาหกรรม

ตลาดหุ้น IPO ในปี 2567 เรียกได้ว่ากลับมาคึกคักกันตั้งแต่ต้นปี เมื่อเห็นชื่อ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น CREDIT กำลังเดินหน้าแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น โดยมี "นายวิญญู ไชยวรรณ" เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขาย หุ้น IPO ในรอบ 10 ปี ที่เข้ามาระดมทุน  

รู้จักธนาคารไทยเครดิต ธนาคารพาณิชย์เพื่อคนตัวเล็กในสังคม

ธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ (Micro and Nano Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร กลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีจำนวนมากและถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงบริการเงินฝาก สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถเข้าถึงเงินทุนจากเงินฝากของกลุ่มลูกค้าธนบดีธนกิจ และให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เท่าที่ควร อีกทั้งความเชี่ยวชาญของบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจในการให้บริการควบคู่การบริหารความเสี่ยงสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงอย่างรัดกุม พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ทำให้ในวันนี้ "ธนาคารไทยเครดิต" มีตำแหน่งทางการตลาดที่โดดเด่น และเป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบด้วยความเชื่อมั่นในปรัชญา "Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ"

ธนาคารไทยเครดิต IPO แบงก์ในรอบ 10 ปี พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

ธนาคารไทยเครดิต ช่องทางสาขาที่เป็นเอกลักษณ์

ปัจจุบัน ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 ธนาคารไทยเครดิต มีสาขาให้บริการทั้งหมด 527 สาขา แบ่งเป็นสาขาเงินฝากจำนวน 27 สาขา สาขาสินเชื่อ 267 สาขา และ Kiosk อีก 233 สาขา ซึ่งถือว่ามีสาขาให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยี เช่น ไมโครเพย์ มาใช้ เพื่อช่วยทำให้เรื่องธนาคารเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีบัญชีดาวน์โหลดทั้งหมดที่ผ่านการยืนยันตัวตน KYC 428,927 บัญชี จำนวนผู้ใช้งาน (Active User) 30.4% จำนวนธุรกรรมเข้าออก 13,997 ล้านบาท

ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง

  • ปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8,493.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,935.0 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,052.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,352.5 ล้านบาท
  • งวด 9 เดือน ปี 2566 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 9,783.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ 

จุดเด่นการเติบโตสูงเมื่อเทียบอุตสาหรรม

ณ งวด 9 เดือนของปี 2566 ธนาคารไทยเครดิต ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยสูงกว่า 8% ประกอบกับมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำสุดในอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 36.2% มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) สูงกว่า 20% ตอกย้ำ "ไทยเครดิต" เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา 

ธนาคารไทยเครดิต IPO แบงก์ในรอบ 10 ปี พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

นอกจากนี้ ยังมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมระหว่างปี 2563 - 2565 (CAGR) ของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ อยู่ที่ร้อยละ 33.0 ต่อปี ณ งวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ธนาคารฯ มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ จำนวน 138,435.1 ล้านบาท

พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

ธนาคารไทยเครดิต มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ จำนวน 138,435.1 ล้านบาท ขณะที่มีโครงสร้างจำนวนสัญญาสินเชื่อรวม 371,699 สัญญา โดยโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อแบ่งออกเป็น ดังนี้

  • สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี 67.7%
  • สินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์  15.3%
  • สินเชื่อบ้านแลกเงิน 15.2%
  • อื่นๆ 1.8%

นักลงทุนสถาบันระดับโลกเชื่อมั่นลงทุนสัดส่วนประมาณ 40% ของ IPO

อีกหนึ่งในความน่าสนใจคือ ธนาคารฯ ได้เปิดข้อมูลในแบบไฟลิ่ง มีผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมจำนวน 6 ราย ได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นสามัญของธนาคารฯ และผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายเป็นจำนวนรวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย คิดเป็นประมาณ 40% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด โดย Cornerstone Investors ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับโลก เลือกมาลงทุนใน หุ้น CREDIT สะท้อนความเชื่อมั่นในการเติบโตอย่างมั่นคง อีกทั้งธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ (Underserved) ให้สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และมีคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ตอกย้ำการเป็นธนาคารที่พึ่งของชุมชนและการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันการเงินระดับโลกที่เข้ามาลงทุน 

ธนาคารไทยเครดิต IPO แบงก์ในรอบ 10 ปี พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

แผนการเสนอขาย IPO

ธนาคารไทยเครดิต เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น 28.00 - 29.00 บาท/หุ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยร่วมจองซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 - 26 มกราคม 2567 และเตรียมเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 

เตรียมพบกับ ธนาคารไทยเครดิต ซึ่งคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดธุรกิจ (Sector) กลุ่มธุรกิจการเงิน/ธนาคาร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "CREDIT"

หมายเหตุ  

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ