เกณฑ์ใหม่! ขยายวงเงินนักท่องเที่ยวขอคืน Vat พร้อมสรุปวิธีขอ Vat Refund

เกณฑ์ใหม่! ขยายวงเงินนักท่องเที่ยวขอคืน Vat พร้อมสรุปวิธีขอ Vat Refund

ชวนอัปเดตหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการขอ Vat Refund พร้อมกับวิธีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อช้อปปิ้ง ซื้อสินค้า จะนำออกนอกประเทศต้องทำอย่างไร

โดยปกติเมื่อนักท่องเที่ยวช้อปปิ้ง ซื้อสินค้า และนำออกนอกประเทศพร้อมกับทำการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ "Vat Refund" กฎหมายได้มีหลักเกณฑ์กำหนดเงื่อนไขต่างๆ เมื่อมีการนำสินค้าออกนอกประเทศไทย และการขอ Vat Refund ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562

และผลที่ตามมาคือ ทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่ต้องรอคิวและขอตรวจเอกสารที่ต้องตรวจสินค้า และการขอ Vat Refund เป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น ล่าสุดกรมสรรพากรจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ เพื่อปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมกับวิธีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

  • อัปเดต! ปรับเงื่อนไขขอ Vat Refund สำหรับนักท่องเที่ยว

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้​

1.ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากหลักเกณฑ์เดิมคือ5,000 บาทขึ้นไป เพิ่มเป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเท่ากับว่านักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าหากยอดซื้อไม่ถึง 20,000 บาท สามารถไปขอรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากเจ้าหน้าที่สรรพากรได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้ามูลค่ารวมไม่ถึง 20,000 บาท นั่นเอง

2.ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อกรมสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 1 แสนบาทขึ้นไป

  • เงื่อนไขการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว

นอกจากหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่แล้ว สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

1.นักท่องเที่ยวต้องนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรไทย ภายใน 60 วัน โดยนับวันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก

2.ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่แสดงป้ายสัญลักษณ์ “VAT REFUND FOR TOURISTS”

3.ต้องซื้อสินค้ามูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) จากสถานประกอบการแห่งเดียวกัน ในวันเดียวกัน

4.ณ วันที่ซื้อสินค้า ให้แสดงหนังสือเดินทางแก่พนักงานขายและขอแบบ ภ.พ.10 จากร้านค้า พร้อมทั้งต้นฉบับใบกำกับภาษี โดยแบบ ภ.พ.10 แต่ละฉบับต้องมีมูลค่าสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป

5.ในวันที่เดินทางออกประเทศไทย ก่อนเช็กอินให้นำสินค้าและแบบ ภ.พ.10 ที่มีมูลค่าการซื้อสินค้ารวมกันแล้วถึง 20,000 บาท ไปแสดงให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสินค้าและประทับตรา

6.สินค้าราคาแพง ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพา หรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋าถือ (ไม่รวมถึงกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด ที่มีมูลค่าชิ้นละ 40,000 บาทขึ้นไป หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าการซื้อต่อชิ้นตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจประทับรับรองในแบบ ภ.พ.10 อีกครั้ง ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาออกส่วนในหลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

  • ขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว 

1.ให้ศุลกากรตรวจสินค้าและประทับตราบนแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) โดยยื่นเอกสารการขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10 และต้นฉบับใบกำกับภาษี) พร้อมนำสินค้าให้เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจสินค้าประทับตราและลงชื่อวันเดือนปีกำกับไว้ในแบบ ภ.พ.10   

ช่องสำหรับเจ้าพนักงานศุลกากรกรณีสินค้าที่ขอคืนเป็นสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 10 ชนิด ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ต้องนำสินค้าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรเพื่อประทับรับรองในแบบ ภ.พ.10 อีกครั้ง 

2.สำรองที่นั่งและเช็กอินกระเป๋าเดินทาง

3.ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

4.ยื่นเอกสารการขอคืนภาษี และสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 10 ชนิด ดังที่กล่าวมาแล้ว (ถ้ามี) ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร เพื่อขอรับเงินภาษีคืน

​โดยสามารถนำสินค้าตามแบบคำร้องขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10) พร้อมต้นฉบับใบกำกับภาษีให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรรับรองสินค้าและประทับตราในวันที่เดินทางออกนอกประเทศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 10 แห่งประกอบด้วยสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ อู่ตะเภา กระบี่ สมุย และสุราษฎร์ธานี

สรุป

หลังจากนักท่องเที่ยวได้รับการตรวจรับรองสินค้าและประทับตราจากศุลกากรเรียบร้อยแล้ว เมื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ตรวจหนังสือเดินทาง ให้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนักท่องเที่ยวยื่นแบบขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10) ที่ได้รับการตรวจรับรองสินค้าและประทับตราจากศุลกากรเรียบร้อยแล้ว พร้อมต้นฉบับใบกำกับภาษีต่อเจ้าพนักงานสรรพากรเพื่อขอรับเงินภาษีคืน

​กรณีเป็นสินค้าราคาแพง 10 ชนิดข้างต้น หลังผ่านการตรวจประทับตราจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพกรและประทับตราในแบบขอคืนภาษี (แบบ ภ.พ.10) อีกครั้งก่อน จึงจะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ทั้งนี้ หากเงินภาษีที่ขอคืนไม่เกิน 30,000 บาท สามารถเลือกขอคืนเป็นเงินสด (เงินบาท) ดราฟต์หรือโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตได้ แต่ถ้าหากจำนวนเงินภาษีที่ขอคืนเกิน 30,000 บาท จะไม่สามารถขอคืนเป็นเงินสดได้ แต่เลือกขอคืนเป็นดราฟต์หรือโอนเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิตแทนได้

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting