‘อาทิตย์‘ ห่วงฐานรากหนี้ท่วม รายได้ไม่พอต้อง ’กู้’ดำรงชีพ

‘อาทิตย์‘ ห่วงฐานรากหนี้ท่วม รายได้ไม่พอต้อง ’กู้’ดำรงชีพ

“อาทิตย์” ห่วงเศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นวิกฤติโควิด ชี้คนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อน รายได้ไม่พอรายได้ เผยบางรายต้องกู้เพื่อมาดำรงชีพกดดันหนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด ย้ำจำเป็นต้องช่วยเหลือ พร้อมมองเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะต้มกบ แถมเป็นกบหนังหนาไร้ความรู้สึก

‘อาทิตย์‘ ห่วงฐานรากหนี้ท่วม รายได้ไม่พอต้อง ’กู้’ดำรงชีพ ที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึง ภาพรวมของ “เศรษฐกิจไทย” ว่าแท้จริงแล้ว ฟื้นตัวจริงหรือไม่ หรือกำลังอยู่ในภาวะ “วิกฤติ” เพราะหากดูภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ตัวเลขหลายตัวเลขบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจกำลังเผชิญวิกฤติรายได้ที่ไม่มีเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือการดำรงชีพ จนผลกระทบลามไปสู่ ปัญหา “หนี้” ที่เริ่มมีปัญหามากขึ้น

หลายมุมมองของภาคเอกชน ก็มองในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะ บริษัทใหญ่ระดับประเทศอย่าง “เอสซีบี เอกซ์” ที่ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหา “ซ่อน”อยู่มาก แม้จะเริ่มเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาเชิงโครงสร้างที่หมักหมมมานาน เริ่มกัดกร่อนเศรษฐกิจไทยไม่ให้เติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยฉายให้เห็นถึงภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า ไทยถือเป็นประเทศที่ถูกผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ผนวกกับการส่งออกที่เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค รูปแบบสินค้า

ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของไทยที่ลดลง ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติในครั้งนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ
 

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตสำคัญ คือ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตที่ขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 4-5% มาจากกลุ่มคนแค่กลุ่มเดียวหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มระดับบนที่ปรับตัวได้เร็วมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานทุนและโอกาส ดังนั้นแม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 4-5% แต่เป็นการเติบโตที่ “ซ่อนปัญหา” เอาไว้มาก

อาทิตย์ บอกด้วยว่า ภาพที่เห็นชัดเจนซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทย อาจไม่ได้เติบโตอย่างที่ควรเป็น ปัญหาหนึ่งมาจาก “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ทั้งความสามารถการแข่งขัน การไม่สามารถลงทุนหรือขยายธุรกิจใหม่ๆได้ ทำให้คนที่อ่อนแอ หรือกลุ่มที่ไม่ได้เข้มแข็งอยู่เดิม โดนผลกระทบมากกว่าคนอื่นๆ 

“คนกลุ่มนี้หากไม่มีการเข้าไปช่วยจริงๆ ไม่มีการเติมพลังใหม่ อย่าหวังให้ระบบฟื้นตัวด้วยตัวเอง เพราะจะเป็นเรื่องที่ยาก”

อาทิตย์ ย้ำว่า การใส่บรรจุเชื้อเพลิงใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็ตาม เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ แต่หากภาพรวมของคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม เราอาจต้องกลับมาดูปัญหาตรงนี้อย่างเร่งด่วน 

หลายปีที่ผ่านมาหลายคนพยายามเข้าไปแก้ปัญหาแต่ไม่ได้ยั่งยืน เพราะเป็นเพียงการเยียวยา แต่ตราบใดที่ไม่มีแผนระยะยาวว่าจะเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ก็จะกลายมาลดทอน Resourc หรือทรัพยากรที่ต้องลงทุนในระยะยาว เหล่านี้คือสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

ผลข้างเคียงเศรษฐกิจไทยหนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง

 หากมาดูถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญอยู่ มีทั้งปัญหาระยะสั้น ปัญหาเร่งด่วน ที่มีผลข้างเคียงอย่างมาก เช่นจากปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ผ่านมาพบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ขณะที่รายได้ของคนกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้น้อยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ลดลงไปมาก ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อกู้มาใช้จ่าย จึงทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูว่า ภาระหนี้ซึ่งมาจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ระยะสั้นต้อง “ช่วยเหลือ” เพราะสิ่งที่จะทำให้เขารอดอย่างถาวรได้ต้องใช้เวลา เนื่องจากหลายเรื่องเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาระยะยาว แต่ปัญหาจะไม่ได้ถูกแก้ไขได้ หากภาพระยะสั้นยังไม่ถูกแก้ไข

การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นยังจำเป็น

“อาทิตย์” ยังมองว่า “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” ยังมีความจำเป็น เพราะวันนี้มีทั้งคนที่เดือดร้อน มีรายได้ไม่เพียงพอ รายจ่ายมากกว่ารายได้ ดังนั้นนโยบายภาครัฐ ที่จะสนับสนุนให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระดับไมโคร ระดับตำบล ระดับอำเภอ เพื่อให้คนมีรายได้น้อยมีการบริโภคเพิ่มขึ้น สนับสนุนการค้าขาย ท้ายที่สุดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยตามมา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าของมาตรการได้ ว่าคุ้มค่าหรือไม่คุ้ม แต่ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้คนส่วนใหญ่ได้

“หากถามว่า การเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเท่าใดถึงเพียงพอ คงไม่สามารถตอบได้ แต่วันนี้ มีประชาชนจำนวนมาก ที่มีรายได้น้อย ถูกผลกระทบมาหลายปี จำเป็นต้องดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

นอกจากนี้ อาทิตย์ ย้ำว่า เขาไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะทำแต่นโยบายระยะสั้น โดยไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว จึงต้องตั้งต้นก่อนว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไร 

“เศรษฐกิจไทยอาจกลับไปเติบโตได้ระดับ 5-6% แต่การเติบโตแล้วกระจุกเฉพาะคนกลุ่มบนอย่างเดียว ไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งสู่คนระดับล่างได้ ก็ไม่มีความหมาย สิ่งเหล่านี้เราจึงต้องวางแผนให้ดีเพื่อจะให้คนส่วนใหญ่จำนวนมากได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย”

ศก.ไทยอยู่ภาวะ ‘ต้มกบ’

หลายคนตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเวลานี้ กำลังอยู่ในภาวะ “ต้มกบ” หรือไม่ “อาทิตย์” มองว่า น่าจะต้องเป็นกบที่ผิวหนา และไม่รู้สึกว่าร้อนมาก ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดี มีความพร้อม แต่ควรดีกว่านี้ได้มาก ไม่ควรที่จะต้องมีคนที่ลำบาก หรือไม่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีปัญหาทั้งเรื่องการลงทุนที่ยังเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะ ในเรื่องการลงทุนที่เกี่ยวกันเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการลงทุนในเรื่องของ Climate Change ที่ทำให้หลายประเทศต้องตั้งกฎกติกา เพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบมากขึ้น ในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ล้วนนำไปสู่การเปลี่ยนอุตสาหกรรม เปลี่ยนโปรดักต์ ดังนั้นมิติของการลงทุนเหล่านี้ การทำเรื่อง R&D สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลในภาพระยะยาว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทย ยังเผชิญกับ “ปัญหาหนี้” ที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ในช่วงสั้นๆ  ปัญหาสะสมในช่วงที่ผ่านมาคือ คนมีรายได้น้อย มีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ และมีการกู้นอกระบบจำนวนมาก การแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ต้องทำหลายเรื่องประกอบกัน ทั้งการเพิ่มรายได้ เพื่อให้คนมีโอกาสทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เป็นโจทย์ใหญ่ประเทศ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้คนส่วนใหญ่สามารถฉกฉวยโอกาสดังกล่าวได้

คาดปีนี้ดอกเบี้ยลดลงตามประเทศใหญ่

ในมุมของ “ดอกเบี้ย” ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามประเทศใหญ่ๆ ที่ทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้าย และความผันผวนเกิดขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยก็ต้องปรับตัวตามกระแสหลักของโลก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง โดยเฉพาะปีนี้ มองว่า ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงไทย จะมีแรงกดดันด้านดอกเบี้ยลดลง ทำให้โอกาสที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงได้ โดยเฉพาะหลังประเทศใหญ่ๆปรับลดดอกเบี้ยลง ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยของไทยอ่อนตัวลงได้

หากดูผลของการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา ในมุมของธนาคาร มีการดูแลลูกค้าอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ไปสร้างผลกระทบต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยลูกค้า ทั้งการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ การยกเว้นดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างเพื่อให้ดอกเบี้ยลูกค้าลดลง ในช่วงวิกฤติ

แต่หลังจากนี้ เชื่อว่า เมื่อภาพรวมกลับมาดีขึ้น เซนติเมนต์ หรือความเชื่อมั่นของคนโดยรวม ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นกู้ ก็จะกลับมาได้

อาทิตย์” กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย หลายสิ่งหลายอย่างยังมองว่า ต้องการร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายสิ่งยังเกิดขึ้นน้อย ทั้งการเอาเงินลงทุนใหม่เข้ามา การลงทุนเพื่อตอบสนองภาคเกษตรการต่อยอดธุรกิจภาคบริการ การทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุน

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ เชื่อว่า ประเทศไทยยังมีความหวัง โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามา ที่เห็นมิติเหล่านี้ และมีความตั้งใจในการผลักดันเรื่องต่างๆ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องหันมาเป็น “กองเชียร์” ช่วยกัน ไม่ได้เชียร์ เพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาล แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อให้เราทุกคนสามารถเดินจากวิกฤติที่ผ่านมาด้วยความแข็งแรงได้

“หากเราไม่ทำอะไร เราจะยิ่งถดถอยลง เพราะในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงยุคนี้ ไม่เหลือที่ สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ข้างหน้ามากนัก ดังนั้นการที่เราพัฒนาช้า จะเป็นตัวทวีคูณผลกระทบทางลบอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นต้องช่วยกัน มองไปข้างหน้า มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ต้องช่วยกัน เพื่อทำให้เกิดขึ้น อย่ามัวแต่คิด วิจารณ์ เห็นต่าง จนไม่สามารถทำอะไรได้เลย”