ผลกระทบจากการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

ผลกระทบจากการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลต้องการให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยอ้างว่าเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  มาตรา 77

ที่บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง 

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

รัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งมีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีความต้องการให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ทั้งฉบับ  จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก.

โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ระหว่างวันที่ 2-16 สิงหาคม 2565 (รวม 15 วัน) และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งเผยแพร่การรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ

แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หมดวาระไปก่อนการพิจารณาของรัฐสภา  คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีความเห็นตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว  

ผลกระทบจากการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77  และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้

ในสถานะการณ์ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจไทย ยังมีปัญหารอการฟื้นตัวของธุรกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และปัญหาของสงครามทั้งด้านยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

ดังนั้น  การทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งไม่มีสินทรัพย์เป็นของตนเองในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ  และยังต้องพึ่งพาการใช้เช็คในการชำระหนี้และหมุนเวียนเพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน

เนื่องจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของสถาบันการเงินได้ เนื่องจากขาดสินทรัพย์ที่นำไปเป็นหลักประกัน จึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุน หรือการยืดเวลาชำระหนี้ออกไป โดยการชำระหนี้ด้วยเช็ค

ซึ่งในทางการค้าผู้ประกอบการที่ยอมรับการชำระหนี้ด้วยเช็ค  ก็ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะได้รับเงินตามเช็คนั้นอย่างแน่นอน  เพราะผู้ออกเช็คจะต้องหาเงินมาชำระหนี้ตามเช็ค เพราะเกรงกลัวต่อกฎหมายตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะมีบทบัญญัติมาตรา 4 ที่บัญญัติว่า

“ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะให้ใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต 

ผลกระทบจากการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

เมื่อมีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”

ทั้งนี้ ผู้ใช้เช็คชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย หากมีเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค จะต้องตระหนักว่ามีโทษทางอาญาบังคับให้ต้องทำการค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  แต่หากเป็นกรณีที่มิได้ออกเช็คเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริง เช่น การออกเช็คเพื่อประกันการชำระหนี้ หรือกรณีที่ผู้ออกเช็คสั่งห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็ค

เนื่องจากมีเหตุโต้แย้งผู้รับเช็ค เช่น มีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อสินค้ารายการนั้น ผู้ออกเช็คก็ไม่มีความผิด แต่กรณีการออกเช็คเพื่อนำไปแลกเงินสด ซึ่งถือว่า ไม่ใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง

กรณีเช่นนี้ผู้ออกเช็คก็จะมิได้กระทำความผิดตามมาตรา 4 หากมีการฟ้องร้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากกรณีไม่ต้องด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 4  

แต่ถ้าหากมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คทั้งฉบับ จะเกิดความเสียหายต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งไม่มีสินทรัพย์หรือหลักประกันเพียงพอในการทำธุรกิจ และไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้  

ทั้งยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้เช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระเงินเพื่อยืดเวลาการชำระหนี้ หรือใช้เช็คที่ได้รับชำระค่าสินค้ามาขายลดเช็คเพื่อได้เงินมาหมุนเวียนในกิจการ

เช่น  ชาวไร่อ้อยที่ขายสินค้าให้พ่อค้าและได้รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้า หากไม่มีกฎหมายกำหนดความผิด ทำให้สถาบันการเงินที่รับซื้อลดเช็คมีความเสี่ยงว่า เช็คที่ได้รับมีโอกาสที่ไม่ได้รับเงินตามเช็คในวันที่เช็คถึงกำหนดชำระได้

ผลกระทบจากการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

 ทำให้ชาวไร่ที่รับเช็คมา ต้องหาเงินนอกระบบมาใช้ในการดำรงชีพ  ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องใช้เงินสดในการชำระหนี้ และจำเป็นต้องหันไปใช้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และไม่สามารถเยียวยาได้

ความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เปรียบเสมือนหลักประกันให้กับผู้ทรงเช็คในทางอ้อม ที่จะควบคุมให้ผู้ชำระหนี้ด้วยเช็คต้องทำการค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และเพิ่งผ่านพ้นจากภาวะวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด 2019

จนธนาคารแห่งประทศไทย เคยออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาเยียวยาลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การระบาดของโรคระบาดไวรัส โควิด 2019 ซึ่งรัฐบาลเองก็ออกมายอมรับต่อสาธารณชนว่า ปัจจุบันประเทศยังมีปัญหาทางด้านวิกฤติเศรษฐกิจ

รัฐบาลจึงควรจะมีการวางแผนและมีมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวในระยะยาว และให้ประชาชนผู้ประกอบธุรกิจได้ตระหนักรู้ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และหาแนวทางให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งได้ใช้เช็คในการชำระหนี้และขยายตัวทางธุรกิจ

ตลอดจนเจ้าหนี้ซึ่งรับชำระหนี้ด้วยเช็คจากผู้ประกอบการ ได้หาวิธีเตรียมการรองรับปัญหา เพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนและดำรงอยู่ได้ รักษาสภาพการจ้างงาน และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและเศรษฐกิจของประเทศ  มากกว่าการเร่งยกเลิกกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ได้มีการประกาศใช้ ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีโดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497  

ซึ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การออกเช็คเพื่อแลกเงินสด และเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จะไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป เพราะไม่ใช่เช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงไม่เปิดช่องให้เจ้าหนี้เงินกู้บีบบังคับลูกหนี้ด้วยวิธีการดังกล่าวได้อีก 

ผลกระทบจากการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

อย่างไรก็ดี หากในที่สุด รัฐบาลต้องการยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เช็ค โดยกำหนดให้ผู้มีความประสงค์ใช้เช็ค หากเป็นกรณีออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง

โดยมีเจตนาไม่ใช้เงินตามเช็คและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เกินสามฉบับ จะต้องถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถใช้เช็ค หรือเปิดบัญชีกับธนาคารใดๆ เพื่อนำเช็คมาหมุนเวียนในท้องตลาดได้อีกต่อไป จนเป็นที่ยอมรับการใช้เช็คในภาคธุรกิจไประยะหนึ่งก่อน (ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี) เพื่อให้เกิดความเคยชินและเชื่อมั่นในการใช้เช็ค

มิฉะนั้น การยกเลิกความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยไม่มีมาตรการรองรับ จะเป็นการสร้างปัญหา และไม่ต้องตามเจตนาของกฎหมายตั๋วเงินในส่วนของเช็คที่กำหนดให้เป็นตราสารทางการเงิน นอกเหนือจากเอกเทศสัญญาอื่นๆ

จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก่อนการพิจารณายกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศยังมีปัญหา และการรีบยกเลิกกฎหมายดังกล่าว จะเป็นการปูทางในการสร้างปัญหาหนี้นอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.