กลยุทธ์ลงทุนส่งท้ายปี 2023

กลยุทธ์ลงทุนส่งท้ายปี 2023 จับตา 3 เหตุการณ์สำคัญด้านเศรษฐกิจมีผลต่อปี 2024 เหตุการณ์แรก ประชุม FOMC ที่ผ่านมา มติคงดอกเบี้ยแต่ส่งสัญญาณประมาณการดอกเบี้ยในอนาคต plot รวมถึง BOJ ยังคงนโยบายผ่อนคลายเการเงินป็นพิเศษต่อไป และเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ยังต้องจับตา

ในช่วงโค้งสุดท้ายปี 2023 และสวัสดีปีใหม่ปี 2024 มี 3 เหตุการณ์สำคัญด้านเศรษฐกิจส่งท้ายปี และน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2024 ดังนี้ 

เหตุการณ์แรก ได้แก่ ในการประชุม FOMC วันที่ 12-13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่ส่งสัญญาณผ่านการประมาณการดอกเบี้ยในอนาคต หรือ Dot plot ว่า จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ในปีหน้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2024 ลงเล็กน้อย ซึ่งภาพดังกล่าวคือสถานการณ์ Soft landing หรือการลงจอดอย่างนิ่มนวลของเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อไม่เป็นความเสี่ยง 

ขณะที่ ภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจดูสอดคล้อง โดยตัวเลข Composite PMI ของสหรัฐขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐของ conference board ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ส่วนยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ย. ขยายตัวสูงกว่าคาด 

แต่หากพิจารณาไส้ในยังพบว่าน่ากังวล โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐยังคงลดลง แม้ว่า PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็ตาม ขณะที่เมื่อมองไปที่ยุโรป ดัชนี PMI ยุโรปหดตัวเป็นเดือนที่ 7 เช่นเดียวกับดัชนี PMI ของเยอรมนีและฝรั่งเศส 

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ยกระดับการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ทำให้บริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง เช่นเดียวกับผู้ผลิตน้ำมัน BP ขณะเดียวกัน สหรัฐประกาศจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจ 10 ประเทศ เพื่อคุ้มครองการเดินเรือในทะเลแดง ทำให้ราคาพลังงานเริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจาก 2 สัปดาห์ก่อน 

เรามองว่า มุมมองของตลาดที่เชื่อว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงจากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นหลังกบฎฮูติก่อวินาศกรรมเรือพาณิชย์ในทะเลแดง ทำให้บริษัทขนส่งสินค้าต่าง ๆ (กว่า 20% ของการค้าโลก และกว่า 12% ของการขนส่งเชื้อเพลิงของโลก) ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือพาณิชย์และอ้อมแหลม Good hope แทน ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรปล่าช้าไปอย่างน้อย 9 วัน ซึ่งจะส่งผลต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไปหากสถาณการณ์ไม่ยุติลงโดยเร็ว 

เหตุการณ์ที่สอง ได้แก่ การที่ นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ ธ. กลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า จะยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไป รวมถึงไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น ทำให้ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนตัวลงเล็กน้อยหลังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง 

เรามองว่า อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการเงินของญี่ปุ่น โดยอาจยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control: YCC) และเริ่มส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0% ในการประชุมเดือน มี.ค. เนื่องจาก BOJ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่ Fed จะลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก ซึ่งตลาดมองว่าอาจลดในเดือน มี.ค. เพราะหากส่งสัญญาณช้ากว่าที่ควรจะเป็น จะทำให้ BOJ ปรับนโยบายการเงินให้มาเป็นปกติ (Normalization) ยากขึ้น 

ซึ่งการปรับนโยบายการเงินของญี่ปุ่น อาจมีนัยยะต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโลกเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีกระแส Yen carry trade จากการที่ดอกเบี้ยญี่ปุ่นที่ต่ำมาก ท่ามกลางดอกเบี้ยของชาติอื่น ๆ ที่สูงกว่า จึงเกิดการกู้เงินเยนและไปลงทุนในที่อื่น ๆ ได้ แต่ในระยะต่อไป หาก BOJ ขึ้นดอกเบี้ย อาจเกิดกระแส Reverse Yen carry trade หรือถอนการลงทุนจากที่อื่น ๆ กลับไปญี่ปุ่นได้ 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา BOJ ดูแลนโยบายการเงินญี่ปุ่นค่อนข้างดี ทำให้ตลาดไม่ผันผวนมาก ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดจากผู้กำหนดนโยบายอื่น

เหตุการณ์ที่สาม ได้แก่ การที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดยังเสี่ยง ขณะที่แนวโน้มยังต้องจับตา ภาพดังกล่าวทำให้เริ่มเห็นสัญญาณที่เปลี่ยนไปในมุมของผู้กำหนดนโยบาย โดยล่าสุดผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่การส่งออกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ 

ในขณะที่ในฝั่งนโยบายการคลัง เรามองว่าการบริหารจัดการแก้หนี้ในระบบและนอกระบบของรัฐบาล จะสามารถช่วยปลดล็อกให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีวงเงินมาบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลและธุรกิจของตนได้บ้าง โดยอาจสามารถช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% จากกรณีฐาน 

ในส่วนของเงินเฟ้อ เราเริ่มเห็นความเสี่ยงด้านลบมากขึ้น จากเงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกัน 2 เดือนติด และจากปัจจัยฐานสูง และการที่เงินเฟ้อไทยที่เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับจีน ทำให้เงินเฟ้อไทยมีโอกาสที่จะหดตัวได้อีกในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงมากขึ้น โอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ 

ด้วยภาพเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น (เราคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2023 ขยายตัวที่ 2.5% และปี 2024 ขยายตัวที่ 3.2%) ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับต่ำและทำให้มี room สำหรับนโยบายการเงิน ทำให้การลงทุนในตลาดทุนไทยในปี 2024 น่าสนใจ เราจึงมีคำแนะนำในการลงทุนใน 4 กลยุทธ์หลักดังนี้ 

1.หุ้น Big Cap. (SET50) ที่คาดเป็นเป้าหมายการลงทุนจากแผนจัดตั้งกองทุน TESG ดังนี้ 1) หุ้นที่ราคาปรับตัวลงแรงกว่า SET เราเลือก OR HMPRO AOT หรือ 2) หุ้นปรับขึ้นดีกว่า SET เราเลือก PTT KTB 

2. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลง ได้แก่ BJC, CPAXT, BCH, GULF, REIT (DIF), AP และ TIDLOR

3.หุ้นที่อาจได้แรงหนุนจากการทำ Short Covering ได้แก่ ADVANC MINT PTT

4.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการ E-Receipt ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 5 หมื่นบาท เริ่มในวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567 ได้แก่ CRC HMPRO

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก :https://linktr.ee/InnovestX

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน

โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/bywa6d5r

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้