ตลท. เผยปี 65 บริษัทจดทะเบียนไทย สร้างรายได้จากต่างประเทศ 6.21 ล้านล้านบาท

ตลท. เผยปี 65 บริษัทจดทะเบียนไทย สร้างรายได้จากต่างประเทศ 6.21 ล้านล้านบาท

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เผยข้อมูลปี 2565 บริษัทจดทะเบียนไทย สร้างรายได้จากต่างประเทศ 6.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.83 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.63%

ในปี 2565 เศรษฐกิจโลก เผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดและความไม่แน่นอน เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 จากผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีรายได้รวมสูงถึง 18.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 35.6% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 0.97 ล้านล้านบาท ลดลง 6.7% จากปีก่อนหน้า เนื่องจาก บริษัทจดทะเบียน มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น อาทิ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขนส่งและโลจิสติกส์ และวัสดุก่อสร้าง

จากการเปิดเผยข้อมูลปี 2565 พบว่า บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีการลงทุนในต่างประเทศ 287 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 810 บริษัท โดยบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมสูงถึง 14 ล้านล้านบาท

ตลท. เผยปี 65 บริษัทจดทะเบียนไทย สร้างรายได้จากต่างประเทศ 6.21 ล้านล้านบาท

จากฐานข้อมูล การลงทุนต่างประเทศ และรายได้จากต่างประเทศของ บริษัทจดทะเบียน รวม 810 บริษัท ที่รวบรวมข้อมูลจากเอกสารหมายเหตุประกอบงบ แบบรายงาน 56-1 หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องของบริษัทจดทะเบียน พบว่า ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนมีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ 287 บริษัท คิดเป็น 35% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด

หากพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization: Market Cap) ของบริษัทจดทะเบียนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีการลงทุนในต่างประเทศมี Market Cap รวมสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 66.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของทั้งตลาด

เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ พบว่า ปี 2565 บริษัทจดทะเบียน มีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิรวม 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 21.6% จากปีก่อน โดยประกอบด้วยมูลค่าการลงทุนจากบริษัทจดทะเบียนใน SET มูลค่า 8.58 หมื่นล้านบาท และจากบริษัทจดทะเบียนใน mai 400 ล้านบาท

หากพิจารณาตามภูมิภาค พบว่า บริษัทจดทะเบียนมีการลงทุนในกลุ่มประเทศ อาเซียน มากที่สุด โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงเท่ากับ 3.8 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปเอเชียตะวันออก โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงเท่ากับ 2.6 และ 0.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่บริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในปี 2565 คิดเป็น 82% ของมูลค่าการลงทุนทางตรงรวมในกลุ่มประเทศอาเซียน 

บริษัทจดทะเบียน ที่มีรายได้จากต่างประเทศ ในปี 2565 จำนวน 337 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียน ทั้งหมด 810 บริษัท พบว่า มีรายได้จากต่างประเทศรวม 6.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.83 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 41.63% โดยประกอบด้วยรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน SET เท่ากับ 6.18 ล้านล้านบาท และรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน mai เท่ากับ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ มีสัดส่วนสูงถึง 49% ของรายได้จากต่างประเทศทั้งหมด 

หากจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีรายได้มาจากต่างประเทศในปี 2565 เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มทรัพยากรเป็นกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 59.0% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาขายน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณขายรวมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีรายได้จากต่างประเทศลดลง โดยลดลง 6.6% จากปีก่อนหน้า

ในช่วงปี 2549 - 2565 หากเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี 2565 พบว่า มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 34 สูงที่สุดในรอบ 17 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 32 ในขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนก็มีรายได้จากในประเทศสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปี 2565 บริษัทจดทะเบียนที่มีการเปิดเผยรายได้จากต่างประเทศ มีรายได้ในประเทศเท่ากับ 8.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 35%

เมื่อพิจารณารายได้จากต่างประเทศของจากบริษัทจดทะเบียนฯ ปี 2565 พบว่า มาจาก 1) รายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนก่อนปี 2565 และ 2) การเปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนที่จดทะเบียนเข้าซื้อขายใหม่ใน ปี 2565 และ 3) การเปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดก่อนปี 2565 ที่มีเปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 แต่ไม่มีการเปิดเผยในปี 2564 ตามรายละเอียดดังนี้

ตลท. เผยปี 65 บริษัทจดทะเบียนไทย สร้างรายได้จากต่างประเทศ 6.21 ล้านล้านบาท

จากข้อมูลเพิ่มเติมที่บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยในรายงาน 56-1 One Report พบว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้จากต่างประเทศในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนก่อนปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 39.5% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจ และความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลง และมาตรการเปิดประเทศ

หากพิจารณาตามภูมิภาคของรายได้จากต่างประเทศที่มีการเปิดเผยระบุประเทศที่มาของรายได้ พบว่า บริษัทจดทะเบียนมีรายได้จากภูมิภาคเอเชียมากที่สุด โดยมีรายได้ในปี 2565 เท่ากับ 1.7 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ จากกลุ่มประเทศอาเซียน มีรายได้เท่ากับ 1 ล้านล้านบาท โดยพบว่า บริษัทจดทะเบียนมีรายได้สูงสุดมาจากประเทศเวียดนาม เท่ากับ 3.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 31.8% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดและความไม่แน่นอนในปี 2565 แนวโน้ม การลงทุนต่างประเทศ ของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในด้านจำนวนบริษัท แต่มูลค่าเงินลงทุนลดลงจากปีก่อน ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหลักมาจาก ราคาพลังงานโลก ที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณการขายที่กลับมาดีขึ้นในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ "อาเซียน" ยังคงเป็นภูมิภาคเป้าหมายหลักที่ บริษัทจดทะเบียน ไปลงทุน และแหล่งรายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย

หมายเหตุ :

ข้อมูลที่ปรากฎในข้างต้น จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร ความเห็นที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย