บสย.เผย ยอดค้ำประกันสินเชื่อช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เกินเป้าถึง 14%

บสย.เผย ยอดค้ำประกันสินเชื่อช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เกินเป้าถึง 14%

บสย.เผย ยอดค้ำประกันสินเชื่อช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เกินกว่าเป้าหมาย 14 % ระบุ ปีหน้าจะเป็นปีที่ท้าทาย โดยบสย.จะเดินนโยบายที่ล้อไปกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งการแก้ไขหนี้นอกระบบและการค้ำประกันสินเชื่อ โดยนำ Digital Technology มาใช้ในองค์กรให้มากขึ้น

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ยอดค้ำประกันสินเชื่อช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ บสย.ทำได้ถึง 1.08 แสนล้านบาท เกินเป้าที่วางไว้  14 % ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้สินเชื่อ 9.8 หมื่นราย โดย 80% ของจำนวนราย SMEs เป็นผู้ประกอบการกลุ่ม Micro สร้างสินเชื่อในระบบ 1.19 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 8.22 แสนตำแหน่ง

ทั้งนี้ บสย.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ในการเข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับ SMEs และ Micro SMEs  ตั้งเป้าหมายในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ลูกค้าที่ 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเข้าไปช่วยค้ำประกันให้กับกลุ่ม SMEs ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Micro SMEs เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า จนถึงหาบเร่แผงลอย

เขากล่าวว่า ในปี 2567 จะเป็นความท้าทายจะมีมากกว่าปีนี้  โดยที่บสย.จะดำเนินนโยบายที่ล้อไปกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้มากขึ้น รวมถึง โครงการให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs  และ โครงการพัฒนาธุรกิจใหม่ ทั้งหมดนี้ คือ การบ้านและโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในปีหน้า

สำหรับการปรับองค์กรของบสย.ในปีที่ผ่านมา โดยนำ Digital Technology มาใช้ในองค์กรให้มากขึ้น โดยเชื่อมโยงระบบ digital ระหว่างบสย.กับสถาบันการเงินพันธมิตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และทำให้ระบบการอนุมัติการค้ำประกันรวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เคยจัดทำแบบสำรวจ เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนกว่า 2,400 รายทั่วประเทศ  พบว่า ปัญหาของ SMEs ไทยที่สำคัญ คือ ต้นทุนทางธุรกิจที่สูง เช่น ต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงิน  และยังมีต้นทุนแฝง เช่นค่าใช้จ่ายเมื่อไปติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ และยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง

การสำรวจดังกล่าวยัง ถามลึกลงไปอีกว่า เมื่อเผชิญกับปัญหา SMEs ปรับตัวอย่างไร พบว่า 79 % ปรับตัวด้วยการใช้ราคาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า อย่างไรก็ตาม พบว่า  SMEs ที่ใช้ราคาเป็นเครื่องดึงดูดลูกค้านั้น หากไม่พัฒนาคุณภาพสินค้า ส่วนใหญ่ SMEs เหล่านั้นจะมียอดขายที่ลดลง