‘ธุรกิจเช่าซื้อรถฯ’โอดเกณฑ์ใหม่สคบ. กดยอดสินเชื่อมอเตอร์ไซค์

‘ธุรกิจเช่าซื้อรถฯ’โอดเกณฑ์ใหม่สคบ. กดยอดสินเชื่อมอเตอร์ไซค์

“สมาคมเช่าซื้อรถจักรยานยนต์” โอดเกณฑ์ใหม่ สคบ. คุมสัญญาฯ ปีแรก กดสินเชื่อใหม่ลดลง 10-15% และช่วงสูญญากาศ รอประกาศกำกับภายใต้ ธปท. คาดปีหน้ายังคุมเข้ม และประคองตัวให้อยู่รอด

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุมสัญญาเช่าซื้อรถฯ ปี 2566 โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งใหม่และเก่าถูกปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากไม่เกิน 32% เหลือไม่เกิน 23% ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ปีนี้เป็นปีแรก 9 ม.ค.2566 

และปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นทิศทางขาขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นราว 2-3% ประกอบกับการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยในตลาดยังมีอยู่ส่วนหนึ่ง 

แม้เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด แต่ปีนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนหลายปัจจัยเป็นความเสี่ยงอยู่มาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ต้องปฏิวัติ เพื่อปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ของ สคบ. และยังสามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในภาวะดังกล่าว

รายงานข่าวจาก สมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปี 2566 ถือเป็นเป็นปีแรกของการปรับตัว ซึ่งคาดว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลง 10-15% จากระดับปกติมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 80,000 ล้านบาทต่อปี เป็นผลมาจากธุรกิจเช่าซื้อฯ ต้องคุมเข้มประเมินการปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ รายได้ไม่แน่นอน (พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ ) และกลุ่มที่ไม่มีประวัติสินเชื่อ ไม่สามารถพิสูจน์รายได้มาก่อน (คนจบใหม่) อาจปฏิเสธิการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น

รวมถึงกำหนดวงเงินดาวน์เพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงสูง จาก ไม่คิด เป็นคิด 10-20% หรือสูงสุด 30%และมีการตรวจสอบเครดิตบูโร ทำให้ปัจจุบันมียอดอนุมัติสินเชื่อลดลงจาก 60-70% เหลือเพียง 50% เท่านั้น

พร้อมกันนี้ ธุรกิจเช่าซื้อฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการลดต้นทุนในส่วนของการดำเนินงาน เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนการเงินต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นราว 2-3% และเกณฑ์เพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่ สคบ.ที่ปรับลดลงราว 10% ทำให้ปัจจุบันการประกอบธุรกิจเช่าซื้อฯ ยังไม่ขาดทุน แต่พอมีกำไร 1-2% และยังสามารถคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวเท่าปีก่อนที่ระดับ 5-7% และคาดว่าแนวโน้ม NPLในปีหน้าจะลดลง 

ทั้งนี้ที่สำคัญตลอด 1 ปีมานี้ ธุรกิจเช่าซื้อฯ ยังอยู่ในช่วงสูญญากาศรอความชัดเจนในการกำกับดูแล มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลากหลายกลุ่ม

ขณะนี้การออกพระราชกฤษฎีกาภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ((ร่าง) พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบัน การเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. ....) ที่ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมกกฤษฏีกาแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ยังต้องรัฐบาลใหม่พิจารณา หากเห็นชอบจะสามารถทูลเกล้า เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยทางสมาคมฯ คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปีหน้า น่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น แต่หากในปีหน้ายังไม่มีความชัดเจน ฝั่งธุรกิจเช่าซื้อฯ ยังคงดำเนินธุรกิจคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเช่นนี้ ทำให้คาดว่า ยอดปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ยังทรงตัวเท่าปีนี้  

นอกจากนี้ สมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯ ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 1 ปีที่เริ่มดำเนินการภายใต้เกณฑ์ใหม่ พบว่า ยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ลดลง แต่ฝั่งยอดขายรถจักรยนต์ยนต์กลับเพิ่มขึ้น 5% ในปีนี้แตะระดับ 1.7-1.8 ล้านคัน  จากก่อนหน้านี้คาดในปีนี้ยอดขายรถจักรยานยนต์ ลดลง 20-30% จากปีก่อนที่ 1.6 ล้านคัน  ปัจจุบันซื้อแบบผ่อนชำระ 75% ซื้อเงินสด 25% 

“หากคนหันไปเข้าถึงแหล่งเงินหรือสินเชื่อส่วนอื่นๆ ในระบบเพิ่มขึ้น เช่น ดิจิทัลเลนด์ดิ้ง หรือมีการเก็บออมเงินมาก่อนซื้อ เราก็ไม่ได้กังวล แต่หากคนหันไปใช้เงินนอกระบบ รวมถึงช่วงหลังมีแก๊งหลอกลวงส่งเอารถจักรยานไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน หรืออีกกลุ่มหนึ่งก็คือไม่จ่าย ไม่ผ่อนชำระและปล่อยให้รถถูกยึด ยิ่งทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น รถยึดในระบบเพิ่มขึ้น ราคารถประมูลลดลง ส่งผลกระทบทั้งระบบ ตรงนี้ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเช่าซื้อฯเห็นภาพชัดเจนรองรับการทำธุรกิจในปีหน้าต่อไป”