รู้ไว้สักนิด ก่อนคิดเป็นหนี้

เครดิตบูโร เผยข้อมูลที่น่ากังวลว่า ประชากรอายุ 25-43 ปี (Gen Y) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนมากที่สุดคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.9 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้ 3.9 แสนล้านบาทเป็นหนี้เสีย ซึ่งใกล้เคียงกับภาวะ “วิกฤติ” ทางการเงิน

สวัสดีครับ เมื่อไม่กี่วันมานี้ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรวมถึงหนี้นอกระบบ แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรัง อีกทั้งยังเป็นวาระแห่งชาติ 

ในปัจจุบันการเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนมาใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย แต่ในเวลาเดียวกัน ยังเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการเป็นหนี้ของคนไทย การเป็นหนี้เกินกว่าจะจัดการได้มักนำไปสู่ความเครียดจากการขาดความมั่นคงทางการเงิน ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากประชาชนไม่สามารถชำระคืนได้ คงเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจจะเติบโตและมุ่งไปข้างหน้า โดยเฉพาะในยุคดอกเบี้ยสูงและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ผมอยากจะขอหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทย เมื่อไม่นานนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนในไตรมาสสองของปี 2566 ปรากฏว่าหนี้ครัวเรือนพุ่งไปแตะที่ 16.07 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เนื่องจากหนี้ทั้งสองประเภทนี้มีสัดส่วนมากที่สุดของจำนวนหนี้ครัวเรือนของไทย ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลว่า ประชากรที่มีอายุ 25-43 ปี (Gen Y) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนมากที่สุดคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.9 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้ 3.9 แสนล้านบาทเป็นหนี้เสีย ซึ่งต้องบอกว่าใกล้เคียงกับภาวะ “วิกฤติ” ทางการเงิน

ผมเห็นด้วยกับหลายท่านที่มองว่าการจะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย ทั้งฝั่งลูกหนี้เอง ฝั่งสถาบันการเงินผู้ให้กู้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาครัฐบาลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนตั้งแต่ต้นทางผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดความจำเป็นในการสร้างหนี้ของครัวเรือน 

แน่นอนว่าสถาบันการเงินต้องยื่นมือเข้ามาช่วยลูกหนี้ เพื่อให้หลุดพ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว โดยครอบคลุมทุกช่วงการเป็นหนี้ตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เริ่มจากก่อนที่ลูกหนี้กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างที่เป็นหนี้ แนวทางการแก้ไขหากลูกหนี้มีปัญหาการชำระ ตลอดจนการขายหนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการหารืออย่างเข้มข้นเพื่อกำหนดหลักการอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้นี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่นำมาใช้เพื่อประเมินความสามารถของลูกหนี้ในการชำระหนี้ โดยเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินระดับรายได้และหนี้สินที่ผู้กู้น่าจะพอรับไหว เช่น เมื่อกำหนด DSR ให้เท่ากับร้อยละ 40 หากผู้กู้มีรายได้ 20,000 บาท ระดับหนี้ที่ผู้กู้สามารถบริหารจัดการได้ก็ไม่ควรเกิน 8,000 บาทต่อเดือนรวมทุกบัญชี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หากเราหันมามองในมุมของลูกหนี้ มีหลักการบางประการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ นั่นคือแนวคิดการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Borrowing) โดยการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบนั้นมีความหมายว่าลูกหนี้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน อีกทั้งยังคำนึงถึงความสามารถของตนในการปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินและหลีกเลี่ยงการผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไป หากลูกหนี้กู้เงินอย่างรับผิดชอบก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการติดกับดักหนี้หรือการก่อหนี้เกินตัว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและรักษาประวัติเพื่อการขอสินเชื่อในอนาคต ทำนองว่า “การไม่เป็นหนี้เกินตัว เป็นลาภอันประเสริฐ” ครับ

ทั้งนี้ หากจะแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน เป็นเรื่องที่จำเป็นที่ลูกหนี้ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ก่อนขอกู้ เริ่มจากการบันทึกรายรับ-จ่ายของตนในแต่ละเดือน เพื่อให้เห็นสุขภาพทางการเงินและสภาพคล่องในภาพรวม พิจารณาใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งที่มีความจำเป็นกับชีวิต รวมถึงคำนึงถึงภาระหนี้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ อาจจะต้องเริ่มมองหาลู่ทางในการเพิ่มรายได้ ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มทักษะและความสามารถเพื่อให้ตนเองมีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การใช้หลักการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ พร้อมใช้ DSR ถือเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา เปรียบเสมือนการทำ “หนึ่ง” ได้ถึง “สอง” คือเป็นตัวช่วยให้ลูกหนี้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง และยังช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนที่สั่งสมมาอย่างยาวนานและฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ กระนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปมที่ผูกไว้แน่นนี้ คือ ลูกหนี้ ด้วยการคิดก่อนกู้ พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของตน รวมถึงการคำนึงถึงเหตุการณ์และความไม่แน่นอนที่อาจเกิดในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้สินเกินตัว และใช่แล้วครับ “เราจะต้องรอดไปด้วยกัน” เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป