รัฐเร่งแบงก์รัฐตุนสภาพคล่องรองรับนโยบาย จี้ส่วนราชการโยกเงินฝาก

รัฐเร่งแบงก์รัฐตุนสภาพคล่องรองรับนโยบาย จี้ส่วนราชการโยกเงินฝาก

รัฐบาลเร่งแบงก์รัฐตุนสภาพคล่อง จี้ส่วนราชการโยกเงินฝาก ระบุ ที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ใช้เงินสภาพคล่องไปอุดหนุนนโยบายรัฐตามมาตรา 28 จำนวนมาก ด้าน ธ.ก.ส. - ออมสิน ชี้สภาพคล่องยังอยู่ในเกณฑ์ดี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการดำเนินการสนับสนุนการดำเนินกิจการของสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ)ตามข้อเสนอของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยให้ส่วนราชการนำเงินนอกงบประมาณมาฝากไว้ที่แบงก์รัฐ เพื่อเป็นสภาพคล่องร่วมสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐ

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง กรม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับทราบตามมติ ครม.โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน และสำรองค่าใช้จ่ายล่วงหน้ามาโดยตลอด 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ขณะนี้ สภาพคล่องของธนาคารยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีจำนวนที่เพียงพอรองรับการปล่อยสินเชื่อได้ถึงกลางปีหน้า อย่างไรก็ดี แม้ฝ่ายบริหารจัดการของธนาคารจะประเมินว่า สภาพคล่องจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ระดับนโยบายโดยท่าน จุลพันธ์ รมช.คลัง เห็นว่า ธนาคารควรมี Buffer ด้านเงินฝากไว้ เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายรัฐด้วยต้นทุนที่ต่ำ

“ประเด็นที่ท่านจุลพันธ์ กังวลคือ ด้วยสิ่งที่ฝ่ายบริหารจัดการบอกว่า เราบริหารจัดการสภาพคล่องได้ แต่โดยหลักการคือ เราควรจะ Buffer ไว้หน่อยไหม เพราะรัฐก็ใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส.เยอะ และแทนที่หน่วยงานรัฐจะนำเงินไปฝากแบงก์พาณิชย์ด้วยเรตเดียวกัน ก็เอามาฝากที่แบงก์รัฐ เพราะถ้าเมื่อเกิดอะไรขึ้นมา เราก็ไม่ต้องใช้ Competition Rate

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 นี้ รัฐบาลก็ได้มีการตั้งงบประมาณชดเชยเงินที่ธนาคารสำรองจ่ายล่วงหน้า ผ่านมาตรา 28 ให้ ในสัดส่วนเท่าเดิมที่ 10% อยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการของรัฐดำเนินการภายใต้ ธ.ก.ส.จำนวนมาก เช่น โครงการเกี่ยวกับการดูแลเกษตรกร ใช้วงเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท ได้แก่ ประกันรายได้ข้าว, โครงการไร่ละ 1,000 บาท เป็นต้น จึงทำให้สภาพคล่องของธนาคารลด แต่ไม่ได้ลดมากจนกระทั่งทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง

นโยบายดังกล่าว ถือเป็นการป้องกัน กรณีมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้วงเงิน จึงต้องการให้มีวงเงินเข้ามาก่อน เพื่อเป็นการเอาเข้ามาตามสภาพราคาตลาด (market rate) ไม่ใช่การนำเข้ามาผ่านการแข่งขัน (competition rate) ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตตลาดการเงินจะมีความผันผวนอย่างไร”

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ขณะนี้ การปล่อยสินเชื่อใหม่ขยายตัวเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย ดังนั้น ภาพการปล่อยสินเชื่อจึงถือว่า อยู่ในเกณฑ์ดี และรวมถึงภาพรวมของหนี้เสีย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ธนาคารรอการพิจารณาอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่วงเงินเกิน 100 ล้านบาท หลังจากที่ผ่านมา ธปท.ได้สั่งการให้ชะลอการปล่อยสินเชื่อแก่รายใหญ่

“ที่ผ่านมา ทาง ธปท.สั่งให้เราชะลอการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ แต่ขณะนี้ เราได้ขอให้ ธปท.ผ่อนปรน เราก็ส่งข้อมูลไป ก็รอ ธปท.ตรวจข้อสอบ ทั้งนี้ ในส่วนการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่นั้น มันก็มีทั้งรายที่มีประเด็น กับไม่มีประเด็น ในส่วนที่ไม่มีประเด็นนั้น เราก็จะปล่อยสินเชื่อให้ ดังนั้น เราก็รอให้ ธปท.แก้ไขให้”

ด้าน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ทราบถึงนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ธนาคารออมสินไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และในส่วนของวงเงินที่รัฐบาลตั้งชดเชยให้กับธนาคารภายใต้มาตรา 28 นั้น ก็เป็นไปตามปกติ และไม่ได้มีจำนวนมาก

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์