ลงทุนเพื่อความยั่งยืนคือ “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

ลงทุนเพื่อความยั่งยืนคือ “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก”

ลงทุนเพื่อความยั่งยืนคือ “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก” เน้นกระจายลงทุนทั่วโลกผ่านกองทุนรวมที่คัดสรรหุ้นของบริษัทที่ได้ประโยชน์เกี่ยวกับพลังงานทดแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม และลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ TESG

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญระดับโลกส่งท้ายปี 2023 ก็คือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 จัดขึ้น ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ทั่วโลกมีเจตจำนงค์ร่วมกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สานต่อมาตั้งแต่การประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ เมื่อปี 2021

ในช่วงที่ผ่านมา แต่ละประเทศได้ดำเนินการเพื่อลดอุณหภูมิตามเป้าหมายที่วางไว้ผ่านหลายมาตรการ เช่น การเพิ่มมาตรการทางการค้าเพื่อสกัดสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต นอกจากนั้น 47 ประเทศทั่วโลก เริ่มออกมาตรการ Carbon Tax เพื่อเก็บภาษีจากการผลิตหรือจำหน่ายเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการนำระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเข้มงวดขึ้นในปีหน้า 

สหภาพยุโรปที่ถือเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ได้ใช้แผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2030 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้านประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy Through Achieving Carbon Neutrality in 2050) ในปี 2021 โดยล่าสุดญี่ปุ่นกำลังดำเนินโครงการนำร่องติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด เพื่อสื่อสารความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกรไปยังผู้บริโภค

แม้แต่จีนที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลกก็ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2070 โดยในปี 2021 จีนจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับชาติขึ้น และในเวลาเพียง 1 ปี ตลาดนี้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวม 194 ล้านตัน มีรายได้เกือบ 8,500 ล้านหยวน ด้านประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ก็นำมาตรการทางภาษีมาใช้บังคับเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดอัตราและเรียกเก็บภาษีจากสถานประกอบการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณสูง 

สำหรับประเทศไทย เราก็มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 เช่นกัน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการกำกับดูแลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบริษัทเอกชนไทยกว่า 44 บริษัท ได้ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจและมีการรวมกลุ่มภาคเอกชนดำเนินการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในนามเครือข่าย Carbon Markets Club อีกด้วย

การเคลื่อนไหวจากนานาประเทศสะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่ระบบเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในสภาวะแวดล้อมที่สะอาดขึ้นและโลกที่ยั่งยืนขึ้น โดยการเปลี่ยนผ่านนี้จะสร้างโอกาสในการลงทุนมูลค่ากว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 200 ล้านล้านบาทต่อปีในช่วงทศวรรษนี้ (ประมาณการจาก Lombard Odier) เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า ระบบจัดการมลพิษ ตลอดจนระบบขนส่ง 

นอกจากบทบาทของภาครัฐและเอกชนแล้ว ตลาดทุนและนักลงทุนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านในเชิงบวกนี้ให้กับโลก นักลงทุนเปรียบเหมือนผึ้งที่สามารถทำหน้าที่กระจายความสมบูรณ์และส่งต่อความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศน์ได้ ซึ่งนักลงทุนในไทยอย่างเราสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนี้ ผ่านนโยบายการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

1.กระจายลงทุนทั่วโลกผ่านกองทุนรวมที่คัดสรรหุ้นของบริษัทที่ได้ประโยชน์เกี่ยวกับพลังงานทดแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น (1) กลุ่มพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทนในระบบสาธาณูโภค ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม (2) การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ฉนวนความร้อนในอาคาร ระบบอาคารอัจฉริยะ และ (3) กลุ่มการขนส่ง ซึ่งประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

2.ลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ TESG ที่มีนโยบายลงทุนในบริษัทที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนอกจากช่วยลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปีแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในไทยอีกด้วย

ด้วยแรงขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจากหลายภาคส่วน ทำให้การลงทุนเพื่อความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียง ‘ทางเลือก’ ของการลงทุน แต่เป็น ‘ทางรอด’ ให้กับพอร์ตการลงทุนและโลกในอนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนขึ้น