จับตาแนวโน้ม E-Payment เติบโตแรง พร้อมข้อควรระวังที่ไม่อาจมองข้าม

จับตาแนวโน้ม E-Payment เติบโตแรง พร้อมข้อควรระวังที่ไม่อาจมองข้าม

ในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ช่วยย่อโลกให้แคบลงสามารถติดต่อสื่อสารและใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล (Digital Banking) ได้พัฒนาก้าวล้ำไปอย่างมาก สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในระบบการชำระเงินจากการจ่ายเงินสดหรือใช้เช็ค มาใช้การจ่ายเงินด้วยระบบ E-Payment ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยข้อดีที่เป็นที่ยอมรับในการมีส่วนช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นความเสี่ยงหากทำธุรกรรมโดยไม่รอบคอบ หรืออาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการควรตระหนักรู้เพื่อให้การทำธุรกรรม E-Payment เกิดประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ และมีความปลอดภัย 

โครงสร้างการชำระเงินของคนไทย นิยมช่องทาง E-Payment ผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนมากขึ้น จากข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ภาพรวมโครงสร้างการชำระเงินในเชิงปริมาณแบ่งเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่ การใช้เช็ค และการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payments) ซึ่ง ณ ปัจจุบันสัดส่วนปริมาณการใช้เช็คลดลงมากจาก 7% ในปี 2555 ลดลงมาที่ 3% ในปี 2560 และเหลือเพียงไม่ถึง 1% ในปี 2565 ขณะที่การชำระเงินผ่าน E-Payment นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 และยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ปริมาณ E-Payment อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านรายการ มูลค่า 516 ล้านล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนปริมาณและมูลค่าอยู่ที่ 99.8% และกว่า 90% ของช่องทางการชำระเงินทั้งหมด ทั้งนี้ หากมองการใช้ E-Payment เป็นรายบุคคลจะเพิ่มขึ้นชัดเจนจาก 89 ครั้งต่อคนต่อปี มาอยู่ที่ 425 ครั้งต่อคนต่อปี ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 และปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 500 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อดูรายละเอียดของรูปแบบ E-Payment  พบว่าช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ การชำระและโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟน โดยในปี 2565 มีจำนวนการใช้สูงถึง 2.3 หมื่นล้านรายการ และมูลค่าสูงถึง  100 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับจำนวนบัญชีของช่องทางดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในระยะเวลา 5 ปี จาก 69.8 ล้านบัญชี เป็น 138.3 ล้านบัญชี ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Digital 2023 Thailand  เผยตัวอย่างคนไทยกว่า 71.75 ล้านคน มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต มากถึง 61ล้านคน หรือ 85% ซึ่งถือว่าค่อนข้างครอบคลุมในประเทศไทย และเฉลี่ยใน 1 วันใช้อินเทอร์เน็ตราว 8 ชั่วโมง  ซึ่งนิยมใช้งานผ่านสมาร์ตโฟนมากกว่า โดยเฉลี่ยใน 1 วัน ใช้งานอยู่ที่ 5 ชั่วโมง และใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง  อีกทั้ง ข้อมูลจากการสำรวจของ ACI Worldwide และ Centre for Economics and Business Research เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการชำระเงินแบบเรียลไทม์เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่นิยมมากในผู้ประกอบการทุกขนาดและผู้บริโภคทุกวัย โดยในปี 2564 ยอดการทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ติดอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นจำนวน 9.7 พันล้านครั้ง  รองลงมาจากประเทศอินเดีย จำนวน 48.6 พันล้านครั้ง และจีนจำนวน 18.5 พันล้านครั้ง พร้อมทั้งประเมินการชำระเงินแบบเรียลไทม์นี้ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) คิดเป็น 2.08% ของจีดีพี  

แนวโน้มนิยมใช้ E-Payment ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนสูงขึ้นเรื่อยๆ  ด้วยการมีข้อดีหรือจุดเด่นของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตประจำวัน แค่หยิบขึ้นมาก็สามารถชำระเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว  และสามารถช่วยลดความผิดพลาด ความซ้ำซ้อน โอกาสการทุจริตจากการจ่ายด้วยเงินสดด้วยเพราะ E-Payment จะมีหลักฐานบันทึก สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้เสมอ  รวมทั้ง การทำธุรกรรมออนไลน์ยังมีวิธีการยืนยันตัวตนในหลายรูปแบบ และมีการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น ตลอดจนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งล่าสุดประกาศมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยเน้นย้ำสถาบันการเงินทุกแห่งจะต้องให้ลูกค้ายืนยันตัวตนด้วยใบหน้า (Biometrics) เมื่อมีการทำธุรกรรมโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อครั้ง หรือ 200,000 บาทต่อวัน หรือการปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

ในภาพรวมแม้การชำระเงินด้วย E-Payment มีความปลอดภัยในระดับที่ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นและยังคงนิยมเลือกใช้ แต่มีสิ่งที่ผู้ใช้บริการควรตระหนัก เพื่อให้การใช้ E-Payment เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ในการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งต้องมีการใช้ข้อมูลส่วนตัว จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว หรือแฮ็กข้อมูลบัญชีเงินฝาก ดังเช่นที่เป็นข่าวเกี่ยวกับแอปพลิเคชันดูดเงิน ทำให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือของเราได้ และทำให้สูญเสียเงินในบัญชีเงินฝาก
  •  ข้อมูล ธปท. เผยเรื่องร้องเรียนเรื่องการใช้บริการผ่านช่องทางของผู้ให้บริการในปี 2565 มีจำนวนลดลง 14% จากปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับผู้ให้บริการมีแนวโน้มในการพัฒนาระบบโอนเงินและชำระเงินดีขึ้น จึงส่งผลให้พบความขัดข้องของระบบลดลง แต่พบว่าปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องการโอนเงินและชำระเงิน (65%) เช่น ปัญหาการโอนเงิน ที่ปลายทางไม่ได้รับเงินหรือไม่ได้รับชำระเงิน การโอนผิดบัญชี ซึ่งในกรณีนี้แม้มีข้อกฎหมายว่าผู้รับโอนจะต้องคืนเงินให้ผู้โอน แต่ก็ต้องใช้เวลาในการติดตามคืน
  • สถิติจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีบัญชีม้า (บัญชีที่มีตัวแทนในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอน รับโอน หรือชำระเงิน เป็นต้น) ในระบบธนาคารจำนวนมากถึง 200,000 – 500,000 บัญชี จากบัญชีธนาคารในประเทศทั้งหมดกว่า 121 ล้านบัญชี ซึ่งอาจเป็นการถูกขโมยข้อมูลด้านบัญชี ทั้งนี้ ด้านการสืบสวน พบว่าการโอนเงินของคนร้ายเป็นทอด ๆ จากบัญชีม้าที่ 1 ไปถึงบัญชีม้าที่ 4 หรือที่ 5 สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพราะใช้การโอนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของธนาคารในสมาร์ตโฟน ขณะที่ธนาคารยังคงต้องใช้เวลาในการติดตามเงินคืนให้กับผู้เสียหาย

จากประโยชน์ที่เด่นชัดของ E-Payment หากผู้ใช้บริการใช้ความรอบคอบในการทำธุรกรรมทุกครั้ง หรือตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดการโอนเงินก่อนกดยืนยันทำรายการ พร้อมกับการติดตามข่าวสารภัยออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัลอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่า E-Payment จะยืนหนึ่งเป็นบริการชำระเงินที่เติบโตดีคู่ขนานกับไลฟ์สไตล์ในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง