ออมสินเล็งโอนหนี้เสียรายย่อยหลายหมื่นล้านบาทเข้าเอเอ็มซี

ออมสินเล็งโอนหนี้เสียรายย่อยหลายหมื่นล้านบาทเข้าเอเอ็มซี

ออมสินเร่งกระบวนการจัดตั้งเอเอ็มซีบริหารหนี้เสีย ประเมินกลุ่มลูกหนี้รายย่อยถูกโอนเข้าเอเอ็มซีหลายแสนราย มูลหนี้หลายหมื่นล้านบาท ด้านคลังแนะออมสินจับมือเอเอ็มซีในระบบ หวังเดินหน้าแก้หนี้เสียได้อย่างรวดเร็ว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินไปพิจารณาแนวทางการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ เอเอ็มซี ทำหน้าที่รับซื้อหนี้เสียของแบงก์รัฐหรือในระบบเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทางธนาคารออมสินได้มาเสนอรูปแบบในการจัดตั้งให้พิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ แนวทางหลักที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ 

1. ให้ธนาคารออมสินดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูก

2. ร่วมกับเอเอ็มซีแห่งอื่น ซึ่งตนเห็นว่า แนวทางการร่วมกับเอเอ็มซีแห่งอื่นน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในขณะนี้ เนื่องจาก ทำได้โดยเร็ว ไม่ต้องรอจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่

 

“แบงก์ออมสินเขามีศักยภาพ สามารถไปร่วมกับเอเอ็มซีแห่งอื่น เช่น SAM หรือ BAM เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขหนี้เสียทำได้อย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา"หนี้เสีย"เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศอยู่ที่ประมาณ 90% ของจีดีพี มีเป้าหมายที่จะลดระดับหนี้ครัวเรือนให้มาอยู่ที่ประมาณ 80% ของจีดีพี

นอกจากนี้ ตนยังมอบนโยบายให้ธนาคารออมสินไป Set เมนู การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่กำลังมีปัญหาหรือที่มีปัญหาอยู่แล้ว โดยเน้นไปที่กลุ่มลูกหนี้รายย่อยเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจมากที่สุด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างหารือแนวทางการจัดตั้งเอเอ็มซี โดยมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอทางเลือกต่างๆในการทำเอเอ็มซีมาให้ธนาคารพิจารณาด้วยโดยคาดว่า จะสามารถเห็นความชัดเจนเรื่องดังกล่าวได้ภายในต้นปีหน้า

ทั้งนี้ ในแนวทางการตั้งเอเอ็มซีที่ทางออมสินมองไว้นั้น จะต้องแก้ไขประกาศของธนาคารออมสินก่อนเนื่องจาก ต้องการให้ตัวเอเอ็มซีไม่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานคล่องตัว แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียด ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเบื้องต้นก็ตอบรับที่จะดำเนินการแก้ประกาศให้ โดยกระบวนการแก้ไขประกาศดังกล่าวต้องใช้เวลา ก่อนจะไปสู่กระบวนการเริ่มจัดตั้งเอเอ็มซีได้  

เขากล่าวด้วยว่า ธนาคารได้ประเมินกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่ายโอนไปยังเอเอ็มซี โดยเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนหลายแสนราย มูลหนี้หลายหมื่นล้านบาท