9 เดือน แบงก์ ‘สำรองหนี้เสีย’พุ่ง 1.6แสนล้าน

9 เดือน แบงก์ ‘สำรองหนี้เสีย’พุ่ง 1.6แสนล้าน

เปิดผลงาน “10 แบงก์” ไตรมาส 3 ปี 66 กำไรโตเฉียด 6 หมื่นล้าน เติบโต 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อานิสงส์รายได้ดอกเบี้ยขึ้น งวด 9 เดือน กำไรรวม 1.8 แสนล้าน เพิ่ม 13.6% ขณะสำรอง9 เดือนพุ่ง 1.66 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 21.49% KTB-SCB-KKP สำรองพุ่งพรวด

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับผลดำเนินงาน “กลุ่มธนาคารพาณิชย์” ในรอบไตรมาส 3 ปี 2566 ภาพรวมยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “10 แบงก์” ได้แต่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (TTB) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)

ทั้งนี้ กำไรไตรมาส 3 ปี 66 โดยรวมทั้ง 10 แบงก์ อยู่ที่ 59,471 ล้านบาท ลดลง 3.51% หากเทียบกับไตรมาสก่อนมีกำไรรวม 61,6635 ล้านบาท แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรเพิ่มขึ้น 10.5%

9 เดือน แบงก์ ‘สำรองหนี้เสีย’พุ่ง 1.6แสนล้าน โดยแบงก์ที่โตโดดเด่นทั้งในช่วงไตรมาสก่อนและเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่มีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ที่ 1.1 หมื่นล้าน โต 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 1.1 หมื่นล้าน โต 48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึง 

ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต โต 27% ส่วนภาพกำไรสุทธิ 9 เดือน กำไรรวมที่ 181,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% จากช่วงไตรมาสก่อนมีกำไร 159,610 ล้านบาท
 

สำหรับ สำรองหนี้สูญ ไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 58,449 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 3.26% หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ตั้งสำรองอยู่ที่ 56,606 ล้านบาท  และเพิ่มขึ้น 21.79% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยธนาคารที่ตั้งสำรองมากที่สุดในไตรมาสนี้ได้แก่ อาทิ  KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 5.18% หรือ 8,157 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 43.94% และเพิ่มขึ้นถึง 42%
    ถัดมาคือ BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 15.89% หรือ 9,052 ล้านบาท ขณะที่ TISCO ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 131% และ 23.73% หากเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ หากเทียบกับช่วง 9เดือน พบว่าสำรองหนี้เสียของ 10 แบงก์ อยู่ที่ 166,897 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 21.49%   หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่สำรองรวมอยู่ที่ 137,375 ล้านบาท

โดยแบงก์ที่สำรองสูงสุดในรอบ 9เดือนที่ผ่านมา อันดับแรกคือ SCB  ตั้งสำรองสูงถึง 34,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% เพิ่มขึ้นจาก 26,750 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถัดมาคือ KKP ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 54% หรือ 4,653 ล้านบาท  และ KTB ตั้งสำรองสูงเป็นอันดับ 3 ที่ 24,015ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% 

แบงก์ที่ตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจาก ภาพรวมหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น BAY ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น 7.7% หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และ LHFG ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น 9.42% ด้าน SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้น 2.74% และ TISCO 2.94%  

ส่งผลให้หนี้เสียโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นราว 1.08% มาอยู่ที่ 5.11แสนล้านบาท จากภาพรวมของหนี้เสีย และสำรองหนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลสำคัญ ทำให้ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และช่วง 9เดือน ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง กำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกต ในไตรมาสนี้ ด้านเงินฝากของแบงก์โดยรวมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 15.18ล้านล้านบาท ลดลง1.13%  ส่วนใหญ่แบงก์มาจากการโยกเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ผ่านเงินฝากประจำพิเศษ หรือกองทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่งผลให้เงินฝากลดลงหากเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา 

นายธนเดช รังษีธนานนท์ Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ พาย กล่าวว่า ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ที่ออกมาโดยรวมกำไรดีกว่าคาดเล็กน้อย เดิมคาดกำไรลดลงราว 5% หรือกำไรอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้าน แต่ภาพรวมลดลงเพียง 3%

โดยตัวที่ปรับดีขึ้นคือ BBL ,KBANK ,TTB แต่ตัวที่ออกมาต่ำกว่าคาดคือ SCB , KKP จากสำรองหนี้ที่สูงขึ้นตามคุณภาพหนี้ในระยะข้างหน้า

ส่วนภาพ 9 เดือน ถือว่ายังอินไลน์กับประมาณการที่ 1.7 แสนล้าน จากมาร์จินที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4 คาดจะเป็นไตรมาสที่โตต่ำที่สุด หากเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในไตรมาสสุดท้าย แต่คาดกำไรโดยรวมทั้งกลุ่มจะเติบโตต่อได้ราว 20% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

นำโดย KBANK เนื่องจากปีก่อนกสิกรไทยมีสำรองพิเศษค่อนข้างมาก ดังนั้นคาดไตรมาสสุดท้ายนี้น่าสำรองสู่ระดับปกติได้ ทำให้กำไรโค้งท้ายออกมาโตได้โดดเด่น

ดังนั้น คาดทั้งปีกำไรแบงก์น่าจะเติบโตอยู่ที่ราว 17-18% หรือ 2 แสนล้านบาท โดยตัวที่แนะนำ คือ BBL โดยให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 203 ล้านบาท และ KTB ที่ 23 บาท

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล. เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/66 ของ 8 ธนาคาร ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาดการณ์ ทั้งในส่วนของกำไรไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือน ยกเว้น SCB ที่ผลงานออกมาต่ำกว่าคาด

โดยกำไรรวมในไตรมาส 3 หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คาดโตได้ราว 2-3% ขณะที่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนคาดเติบโต 1.9% ส่วนภาพ 9 เดือน คาดกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1.78 แสนล้าน โต 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม กำไรของหลายแบงก์ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะ SCB มีโอกาสที่ภาพรวมทั้งปี กำไรของทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจต่ำกว่าคาดการณ์ได้ เดิมคาดกำไรรวมอยู่ที่ 2.1-2.2 แสนล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำซื้อ BBL ให้ราคาเหมาะสม 199 บาท และ KBANK 140 บาท