ธ.ก.ส.ชี้ต้นทุนพุ่งท้าทายบริหารพอร์ตเงินฝาก

ธ.ก.ส.ชี้ต้นทุนพุ่งท้าทายบริหารพอร์ตเงินฝาก

ผู้บริหารธ.ก.ส.ระบุ จากทิศทางดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้น บวกกับ นโยบายพักชำระหนี้ 3 ปีของรัฐบาล ทำให้การบริหารพอร์ตเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)มีความท้าทายมากขึ้น

 

จากทิศทางดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้น บวกกับ นโยบายพักชำระหนี้ 3 ปีของรัฐบาล ทำให้การบริหารพอร์ตเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)มีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจาก ต้นทุนในการระดมเงินปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ การพักชำระหนี้ทำให้สภาพคล่องที่ควรได้จากการชำระหนี้ส่วนหนึ่งนั้นหายไป 

ทั้งนี้ แม้ว่า นโยบายพักชำระหนี้ 3 ปีของรัฐบาล จะเป็นการพักหนี้ตามความสมัครใจ อาจมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่เข้าร่วมโครงการด้วยเหตุผลที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขวงเงินของมูลหนี้ที่ต้องไม่เกิน 3 แสนบาทต่อราย ทำให้มีผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการถึง 2.7 ล้านครัวเรือน มูลหนี้ราว 2.8 หมื่นล้านบาท

ไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการธ.ก.ส.กล่าว่า แม้ว่า มูลหนี้ของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะอยู่ที่ประมาณ20% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด จะกระทบกับการดำเนินงานของธนาคารไม่มากนัก แต่เราก็ต้องบริหารจัดการ เพราะระยะเวลาการพักหนี้ครั้งนี้ 3 ปี อาจกระทบต่อ Cash Flow ฉะนั้น ความจำเป็นในการหาเงินฝาก จะต้องสูงกว่าเป้าสินเชื่อ เพื่อให้พอร์ตเงินฝากกับสินเชื่อมีความ Balance

“หลังทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายทยอยปรับเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้ต้นทุนการระดมเงินของสถาบันการเงินทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ธนาคารจะบริหารต้นทุนเงินฝากไม่ให้เกิน 1% โดยในตอนแรกพยายามCap ไว้ไม่ให้เกิน 0.8%  แต่ตอนนี้ เริ่มขยับขึ้นมา เราก็พยายามคุมไม่ให้เกินนี้ เป็นความท้าทายที่เราต้อง Balance พอร์ต”

ไพศาลบอกว่า ทุนในการดำเนินงานของธ.ก.ส.มาจากเงินฝากของประชาชน เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับจัดสรรงประมาณมาดำเนินงาน ฉะนั้น สภาพการดำเนินงานของธนาคารในฐานะเป็นแบงก์รัฐก็มีความยากเรื่องของเงินฝาก 2 เรื่อง คือ ระดมทุนเพื่อมาทำงานตามภารกิจของรัฐ และระดมมาเพื่อภารกิจปกติของแบงก์

“วันนี้ ธ.ก.ส.ต้อง Balance ให้แหล่งเงินฝากกับสินเชื่ออยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เรามีเงินสินเชื่อทั่วประเทศ 4 ล้านครัวเรือน เป็นวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ ต้องระดมเงินฝากภาครัฐและประชาชนให้ได้ราว 1.9 ล้านล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งต้องบริหารบนหลักให้ได้แหล่งเงินฝากต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อนำมาบริหารจัดการธุรกิจ”

อย่างไรก็ดี ระยะ 8 เดือนของปีบัญชี 2566/67 อัตราการเติบโตของเงินฝากอยู่ในระดับทรงตัวเนื่องจาก ในช่วงต้นปีบัญชีเรามีเงินฝากเข้ามามากจากโครงการของรัฐบาล ทำให้ยอดเงินฝากโตกว่าปกตินับแสนล้านบาท แต่นับจากนี้ ธนาคารจะเริ่มเร่งให้เงินฝากขยายตัว เพื่อให้ยอดเงินฝากมีอัตราการเติบโตตามเป้าหมายที่ 9.4 หมื่นล้านบาท โดยแคมเปญเงินฝากจะเริ่มช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ ผ่านการออกสลากถุงทองวงเงิน 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารรองรับประชาชนในทุกวัย ที่โดดเด่น คือ ออกเงินฝากในรูปแบบสลาก ปัจจุบันมีวงเงินฝากถึง 4 แสนล้านบาท หรือ ราว 25% ของพอร์ตเงินฝากทั้งหมด

เขายังกล่าวถึงภาพรวมตลาดเงินฝากในตลาดว่า ขณะนี้ สภาพคล่องส่วนเกินของแต่ละสถาบันการเงินมีไม่มากนัก และ การแข่งขันเพื่อดึงเงินฝาก หลังดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ก็ไม่ได้แข่แรงอย่างที่คิด เพราะอีกขาหนึ่ง การเติบโตของสินเชื่อไม่ได้หวือหวา เนื่องจาก ทุกคนยังบาดเจ็บจากสถานการณ์โควิด ดังนั้นก่อนจะไปลงทุนอะไร ต้องมั่นใจว่า มีความเข้มแข็ง ฉะนั้น ทุกคนก็ยังระวัง แม้เศรษฐกิจเริ่มดี แต่สินเชื่อไม่ได้เติบโตหวือหวา ฉะนั้น การแย่งชิงสภาพคล่องไม่แรง ถือว่า อยู่ในวิสัยบริหารจัดการได้

สำหรับนโยบายพักหนี้นั้น เราประเมินว่า จะมีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 70% ปัจจุบัน มีลูกหนี้แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 1 ล้านราย กำหนดวันสิ้นสุดรับสมัครในวันที่ 31 ม.ค.2567ทั้งนี้ ภายใต้โครงการนี้ ธนาคารจะพัฒนาศักยภาพให้ลูกหนี้กลับมาแข็งแรง ตั้งเป้าฟื้นฟูสุขภาพการเงินของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้ได้ราว 9 แสนราย

ไพศาลยังกล่าวถึงหลักสูตรWOWที่เขาเข้าร่วมด้วยว่า เป็นการรวมกลุ่มผู้เข้าอบรมจากหลายภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ราชการ ผู้ประกอบการ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งยังมีช่วงอายุของผู้เข้าร่วมอบรมตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวัยที่เกษียณแล้ว ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมอง นำจุดแข็งมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยหลักสูตรที่กำหนดนั้น ก็อยู่ในเทรนด์ความสนใจของตลาด สำหรับวิทยากรที่มาบรรยายก็เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรง ทำให้ผู้เข้าอบรมได้ความรู้และประโยชน์อย่างเต็มที่