ธปท.หนุนใช้ ‘4 สกุลเงินท้องถิ่น’ เทรดระหว่างกัน ลดความเสี่ยง ดอลลาร์ผันผวน

ธปท.หนุนใช้ ‘4 สกุลเงินท้องถิ่น’ เทรดระหว่างกัน ลดความเสี่ยง ดอลลาร์ผันผวน

“แบงก์ชาติ” หนุนใช้ 4 สกุลเงินท้องถิ่นทำการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น หวังลดเสี่ยงเงินดอลลาร์ผันผวน ขณะ ค่าความผันผวนเงินดอลลาร์พุ่งแตะ 8-9% ส่งผลยอดการทำเฮดจิ้งของผู้ประกอบการเพิ่มตาม

ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์เทียบเงินบาทที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

โดยที่ผ่านมามี 4 สกุลเงินที่ ธปท. พยายามผลักดันให้ใช้สกุลเงินเหล่านี้ทำการค้าขายระหว่างกัน และจะผลักดันให้ใช้มากขึ้นในระยะข้างหน้าด้วย คือ เงินหยวนของจีน เงินริงกิตของมาเลเซีย เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และเงินเยนของญี่ปุ่น

นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นโดยเฉพาะ 4 สกุลเงินที่กล่าวถึงนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับตัวผู้ประกอบการเองในการชำระค่าสินค้าและบริการท่ามกลางที่สกุลเงินบางสกุลมีความผันผวนมากเกินไป

“ช่วงที่เงินดอลลาร์มีความผันผวนมากๆ ผู้ประกอบการก็สามารถเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นเหล่านี้ในการชำระค่าสินค้าและบริการแทนได้ ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็จะลดลง อีกทั้งการต่อรองเรื่องการค้าขายก็จะง่ายขึ้นด้วย”

เธอกล่าวด้วยว่า การสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่งทั้ง 4 สกุลที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า เงินเยนมีสัดส่วนการใช้ที่ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเพราะไทยกับญี่ปุ่นมีการค้าการลงทุนระหว่างกันที่มากอยู่แล้วด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. เพื่อดูว่าจะมีแนวทางความร่วมมือใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับสัดส่วนการใช้สกุลเงินในการชำระเงินระหว่างประเทศนั้น ปัจจุบันยังคงเป็นสกุลเงินดอลลาร์ที่สูงอันดับหนึ่งที่ประมาณ 80% ขณะที่เงินบาทอยู่ที่ 11% เงินเยนอยู่ที่ 3.5% เงินริงกิตและเงินรูเปียห์ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยโดยอยู่ที่ 0.2% และ 0.1% ตามลำดับ

นอกจากนี้ นางอลิศรา กล่าวด้วยว่า ค่าความผันผวนของเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8-9% สูงเป็นอันดับสองรองจากเกาหลีใต้

โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก และแนวโน้มความผันผวนของค่าเงินจะยังเป็นลักษณะนี้ไปอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกและนำเข้าเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว 

สำหรับเครื่องมือที่จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินลงได้ คือ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(เฮดจิ้ง)​ ซึ่งยอมรับว่าระยะหลังผู้ประกอบการก็หันมาใช้เครื่องมือเหล่านี้กันมากขึ้น ล่าสุดผู้ส่งออกมีการทำเฮดจ์จิ้งในสัดส่วนราว 29% เทียบกับอดีตช่วงก่อนปี 2561 ยังมีการทำเฮดจ์จิ้งในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเพียง 23% เท่านั้น