'ธุรกิจธนาคาร' ทั่วโลกฟันกำไรสูงสุดในรอบ10 ปี ได้อานิสงส์ 'ดอกเบี้ยขาขึ้น'

'ธุรกิจธนาคาร' ทั่วโลกฟันกำไรสูงสุดในรอบ10 ปี ได้อานิสงส์ 'ดอกเบี้ยขาขึ้น'

แมคคินเซย์ (McKinsey) เผยรายงานกำไรของ “อุตสาหกรรมธนาคาร” ทั่วโลกในช่วง ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสามารถทำกำไรไปได้กว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ กำไรสูงสุดในรอบ “ทศวรรษ” หรือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนุนผลตอบแทนต่อส่วนทุนสูงถึง 12% พร้อมกับเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ไหลออก

Keypoint:

  • อุตสาหกรรมธนาคาร ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น
  • ทำกำไรไปได้กว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ กำไรสูงสุดในรอบ “ทศวรรษ”
  • เงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ไหลออกจากธนาคาร

แมคคินเซย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ และการเงินระดับโลก เผยรายงานกำไรของ “อุตสาหกรรมธนาคาร” ทั่วโลกในช่วง ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสามารถทำกำไรไปได้กว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นช่วงที่กำไรสูงสุดในรอบ “ทศวรรษ” หรือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทำให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ และรับรายได้จากสินเชื่อ และการจำนองมากขึ้น โดยผลกำไรทั่วโลกของอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นประมาณ 2.8 แสนล้านดอลลาร์

ผลตอบแทนสูงขึ้นต่อเนื่อง

จากรายงานระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 5% ในสหรัฐของเฟด ทำให้ส่วนต่างกำไรจากดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นกว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 ทำให้ Return to Equity (ROE) หรือผลตอบแทนต่อส่วนทุน สูงถึง 12% และคาดว่าจะเติบโตเป็น 13% ในปี 2566 นับว่าเป็นการเติบโตที่สูงว่าค่าเฉลี่ยที่ 9% จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

McKinsey เผยว่ารายได้สุทธิของอุตสาหกรรมการธนาคารเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 เป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566

เงินไหล 1 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กำไรที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสเงินฝากหลายเดือนที่ไหลออกจากธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ โดยมีเงินฝาก 84.5 พันล้านดอลลาร์ ออกจาก JPMorgan Chase, Wells Fargo และ Citigroup ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 นี้ และออกจาก Bank of America, Morgan Stanley และ BNY Mellon มูลค่า 44.35 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสเดียวกัน

รวมทั้งตัวเลขล่าสุดจากระบบข้อมูลเศรษฐกิจของ Federal Reserve (FRED)แสดงให้เห็นว่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ ทุกแห่งลดลง 1 แสนล้านดอลลาร์ใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จาก 17.38 ล้านล้านดอลลาร์ในวันที่ 27 กันยายน เหลือ 17.28 ล้านล้านดอลลาร์ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566

อ้างอิงจากการสำรวจของ FRED ที่รวบรวมจาก 25 โพลจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม นักวิชาการ กองทุน รวมถึงบริษัทด้านการวิจัยและให้คำปรึกษา พบว่า ผู้คนและธุรกิจต่างๆ กังวลเกี่ยวกับอัตราส่วนเงินสำรองที่ค่อนข้างต่ำในธนาคารตอนนี้

จำนวนเงินฝากที่ไม่มีเงินสดค้ำมูลค่ามีอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง และเสี่ยงต่อการเกิด Bank run หรือเหตุการณ์ที่ผู้ฝากไม่สามารถถอนเงินได้เพราะเงินสดในธนาคารมีไม่เพียงพอ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความกังวล

แนวโน้มอุตสาหกรรมการเงิน

ทั้งนี้ McKinsey คาดการณ์ว่าอนาคตของสถาบันการเงินจะถูกกำหนดโดยแนวโน้มหลักระดับโลก 4 ประการ ได้แก่

1. อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

2.อัตราเงินเฟ้อ

3.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของ generative AI อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกม โดยเพิ่มความสามารถในการผลิตขึ้น 3- 5 เปอร์เซ็นต์ และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานระหว่าง 2-3 แสนล้านดอลลาร์

4.การตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับสถาบันการเงินทางเลือก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์