ผู้ว่าธปท.ปักหมุดเข็นนโยบายการเงินสร้าง Resilience ให้ศก.ไทยรับมือวิกฤติ

ผู้ว่าธปท.ปักหมุดเข็นนโยบายการเงินสร้าง  Resilience ให้ศก.ไทยรับมือวิกฤติ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้ประเทศไทยมีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดี แต่ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางจุดที่น่าห่วง โดยเฉพาะ ภาคการคลัง เงินทุนยังไหลออก ปักหมุดดำเนินนโยบายการเงินสร้าง “Resilience”ให้เศรษฐกิจ หวังปูทางสู่ความยืดหยุ่นมากขึ้น รับมือช็อคที่เข้ามาในระยะข้างหน้า

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานพบสื่อมวลชนว่า ปัจจุบัน ความเสี่ยงจากปัจจัยโลกมีสูงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มีการฟื้นตัวช้า และไม่ทั่วถึง ซึ่งทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะขยายตัวอยู่ที่ราว 3% ถือเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 30ปี 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงความเสี่ยงใหม่ๆจาก ซัพพลายเชน และGeopolitics  ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีผลกระทบต่อการค้าโลก

รวมไปถึง ปัญหาสงครามในอิสราเอล ที่ความเสี่ยงประเมินได้ยาก ทั้งยังคาดการณ์ผลกระทบได้ยาก และความเสี่ยงยังมีมากขึ้น หากสถานการณ์ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ความเสี่ยงเหล่านี้มีสูงขึ้น และเป็นผลให้บนเวทีโลกมีการพูดถึงเสถียรภาพค่อนข้างมาก ทำให้ IMF มีการแนะนำให้หลายประเทศ ดำเนินนโยบายที่สร้างเสถียรภาพมากขึ้น เช่น การดูแลเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในกรอบ 

ถัดมาคือ ต้องพยายามสร้างบัพเฟอร์ กันชนด้านการคลัง โดยการรัดเข็มขัดทางการคลัง หรือ Fiscal consolidation โดยการลดการขาดดุลทางการคลัง ทำให้หนี้สาธารณะปรับลดลง เพื่อเตรียมรับมือกับช็อคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

สำหรับประเทศไทย ในมุมเสถียรภาพ ภาพรวมถือว่ามีเสถียรภาพ แต่ชะล่าใจไม่ได้ เนื่องจาก แม้จะมีบางจุดมีเสถียรภาพที่ดี เช่น ด้านต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ ปีหน้าเกินดุลต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองอยู่ในระดับสูง 

แต่ยังมีบางจุด ที่ต้องจับตามอง  เช่น หนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 90.7% แม้ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 94% แต่ระดับดังกล่าว ถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยเป้าหมายของธปท.ต้องการให้หนี้ครัวเรือนลดลงไปอยู่ในระดับปกติ ตามมาตรฐานสากล ที่ราว 80% 

นอกจากนี้ อีกจุดที่ห่วง ยังมี หนี้สาธารณะ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 61.7% ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากเทียบกับระดับก่อนโควิด ที่อยู่เพียง 40% และที่สะท้อนว่า เสถียรภาพเป็นสิ่งที่ชะล่าใจไม่ได้ คือการตอบสนองของตลาดการเงิน หรือ Market reaction ที่ปัจจุบันมีเงินไหลออก ทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ โดยนับตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน (YTD) มีเงินไหลออกสุทธิแล้ว 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นอันดับสอง รองจากอดีตที่เคยมีเงินไหลออกถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่มีเงินทุนไหลเข้า เช่น เกาหลี อินเดีย มาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังเห็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีความผันผวนมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8-9% ซึ่งผันผวนสูงอันดับต้นๆของภูมิภาค และผันผวนสูงหากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา สอดคล้องกับ Credit Default Swap การซื้อประกันความเสี่ยง ที่เพิ่มสูงขึ้นราว 0.50-0.70% สะท้อนความกังวลมากขึ้น 

​“โดยรวมเสถียรภาพโอเค แต่ชะล่าใจไม่ได้ เพราะเห็นความเสี่ยงในด้านต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะเครดิตเรทติ้ง ที่มองมหาภาคเราค่อนข้างดี แต่สิ่งที่เขากังวล ก่อนที่จะมีการลดอันดับเครดิตลดลง คือ ภาคการคลัง  เพราะสิ่งที่ไอเอ็มเอฟอยากเห็นคือ ภาคการคลังมีการรัดเข็มขัดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไทยเป็น Safe Haven แต่ตอนนี้เราเป็น Less of Safe Haven”

ผู้ว่าธปท.ปักหมุดเข็นนโยบายการเงินสร้าง  Resilience ให้ศก.ไทยรับมือวิกฤติ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ด้วยสถานการณ์ในข้างต้น ภายใต้บริบทปัจจุบัน ในมุมของ ธปท.จึงต้อง “ปรับโหมด”ตามสถานการณ์ หรือมีโฟกัสที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่การปรับทิศทาง จากการมองภาพระยะสั้น ไปเป็นการมองเรื่องระยะปานกลางมากขึ้น และสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นจากวิกฤติได้ คือการทำให้เศรษฐกิจ มีความยืดหยุ่น หรือ Resilience

3องค์ประกอบหนุนเศรษฐกิจไทยรับมือช็อค

​โดยการทำให้เศรษฐกิจไทยมีความ Resilience มี 3 องค์ประกอบ ด้านแรก การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน (Macro financial stability) ด้วยการใช้เครื่องมือ นโยบายต่างๆให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป การดูแลเสถียรภาพทางการเงิน โดยไม่ให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป และให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ควบคู่กับเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับที่เหมาะสม และดูแลไม่ให้เกิดความเปราะบางด้านการเงิน ที่ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ 

​ด้านที่สองคือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยการสร้าง buffer และเพิ่มทางเลือกให้พร้อมรองรับ Shock ในอนาคต  ดังนั้นต้องมีกระสุน หรือ Policy space ที่เพียงพอ และมีเครื่องมือในการดูแลในฝั่งดอกเบี้ย และฝั่งการคลังให้เพียงพอ 

​ด้านที่สาม สร้างโอกาสใหม่ในการเติบโตจากทั้งกระแสดิจิทัล และความยั่งยืน โดยดูแลให้ผลข้างเคียงน้อยที่สุด 

​โดยทั้ง 3 ด้านเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่น หรือ resilience มากขึ้น

​ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.มีการปรับการดำเนินนโยบายการเงิน จาก Smooth Takeoff ที่ต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไปสู่การ Landing หรือ การลงจอดอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติ(neutral)ที่เหมาะกับความสมดุลระยะปานกลาง

และดูแลเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ อย่างยั่งยืน ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการเงิน โดยเฉพาะนโยบายดอกเบี้ยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทนทานต่อช็อคที่อาจเกิดขึ้นระยะข้างหน้า ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมี Policy space มากขึ้นในการดูแลด้านต่างๆ

ดอกเบี้ยถึงระดับที่เหมาะสม

ส่วน “อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถึงจุด neutral แล้วหรือไม่” ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า หากดู สเตทเม้นท์กนง.ที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนมาถึงระดับปัจจุบัน ถือว่า เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว ทั้งนี้หากสถานการณ์ที่มองไว้ในระยะข้างหน้า ไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับการมองไปข้างหน้า เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม และคงระดับไว้ได้สักระยะ

​สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยอมรับว่า ภายใต้ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.8% ตัวเลขที่ออกมาน่าจะใกล้เคียงหรือบวกลบได้จากระดับนี้ แต่ตัวเลขไตรมาส 3 ที่จะออกมาในระยะข้างหน้า มีบางด้านที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เช่นการบริโภค ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

เช่นเดียวกันภาคการท่องเที่ยว ส่วนภาพการทรงออกยังทรงตัว แต่อาจมีบางด้านที่ต่ำกว่าที่มองไว้เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ที่ต่ำกว่าคาดไว้เดิม