2 เสาหลักในการวางแผนเกษียณของมนุษย์เงินเดือน

2 เสาหลักในการวางแผนเกษียณของมนุษย์เงินเดือน

หลายคนที่ทำงานประจำอาจจะบ่น หรือเบื่อกับการทำงาน บางคนอาจอยากออกไปเป็นผู้ประกอบการ หรือทำงานอิสระ แต่ในความเป็นจริงการเป็นมนุษย์เงินเดือนมีข้อดีหลายเรื่อง หลักๆคือการได้รับเงินเดือนประจำซึ่งทำให้ไม่มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่สำคัญเช่น การตรวจสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล

แต่สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือความง่ายในการวางแผนเกษียณ เพราะสามารถกำหนดสมมติฐานและความมีวินัยได้ง่ายกว่า  เครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือแรกสำหรับมนุษย์เงินเดือนการมีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ

เหตุที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือหลักก็เพราะ

1. เราจะถูกหักเงินเดือนเพื่อนำเข้าสู่กองทุน หรือเป็นการลงทุนแบบสม่ำเสมอทุกเดือน

2. เงินที่ถูกหักจะถูกปรับเพิ่มอัตโนมัติตามเงินเดือน ทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นไปด้วยเช่นกัน

3. บริษัทจะทำการสบทบเงินเข้ากองทุนเท่ากับที่เราลงทุน ข้อนี้เท่ากับว่ามีคนช่วยเราลงทุนครึ่งหนึ่งทุกๆเดือนนั่นเอง เช่น กรณีเงินเดือนเราอยู่ที่ 30,000 บาท และหากเราถูกหักในอัตรา 5% เท่ากับว่าในแต่ละเดือนเราจะถูกหัก 1,500 บาท และบริษั่ทสมทบอีก 1,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 3,000 บาท เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา

4. เงินที่เราลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆได้ ทำให้เราจ่ายภาษีน้อยลง สิ่งนี้เป็นการสนับสนุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการลงทุนเพื่อการเกษียณ

5. บริษัทมักจัดให้มีคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะตลาดและการลงทุน และช่วยให้เราจัดสัดส่วนการลงทุนได้เหมาะสม

6. ปกติเราสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้ ดังนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด หรือเมื่ออายุหรือความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไป

โดยหากเราเริ่มทำงานในองค์กรที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและมีการปรับฐานเงินเดือนตามปกติ เช่นปีละ 3% เมื่อเราเกษียณเราน่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณได้ในระดับปกติ

เสาหลักที่ 2 จะมีประโยชน์สำหรับคนที่ทางบริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเพิ่มขึ้นกว่าที่เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างคือ กองทุน Retirement Mutual Fund หรือ RMF (จริงๆในปัจจุบันมีกองทุน SSF อีกประเภทให้เลือก)

โดย กองทุน RMF มีข้อดีคือเรามีทางเลือกในการลงทุนหลากหลายทั้ง

1. ประเภทของกองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศ กองทุนรวมหุ้นไทยและต่างประเทศ และกองทุนรวมประเภท ธีมฟันด์ ซึ่งลงทุนในกลุ่มธุรกิจเฉพาะทาง เช่น เทคโนโลยี พลังงานสะอาด ซึ่งเพิ่มทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น

2. บริษัทผู้ให้บริการ หรือ บลจ ทำให้เราสามารถเลือกกองทุนที่ดีในละประเภทสินทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องอิงจากผู้ให้บริการรายเดียวเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

3. ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยจำนวนที่เท่ากันในแต่ละปี ซึ่งขึ้นกับความพร้อมทางการเงินหรือเหตุอื่นๆ

4. เงินลงทุนในกองทุน RMF สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ถือเป็นนโยบายาของภาครัฐที่สนับสนุนการออมเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งประชาชนจะไม่มีรายได้ในช่วงนั้น ประโยชน์ข้อนี้จะยิ่งมากสำหรับคนที่มีฐานภาษีในอัตราที่สูง

อย่างไรก็ดี หากบริหารจัดการเงินที่ลงทุนในกองทุน RMF อย่างมีวินัย เงินส่วนนี้จะเป็นการบริหารพอร์ตเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

หลักการทำให้พอร์ต RMF เป็นการบริหารแผนเกษียณ ควรมี

1. จัดทำเป้าหมายให้ชัดเจนว่า เราต้องการอะไร เช่นเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณเพิ่มอีกเดือนละ 30,000 บาท

2. รู้ความสามารถในการรับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการ เพื่อนำมาประเมินเป็นพอร์ตการลงทุน

3. เลือกกองทุนตามสินทรัพย์และน้ำหนักที่วาง

4. หากเป็นไปได้ ควรทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เช่นตัดเงินลงทุนเป็นรายเดือน เช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างมีวินัย

5. ประเมินพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่นทุก 3 เดือน ในกรณีที่มีต้องมีการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนเพื่อความเหมาะสม เพื่อให้บริษัทที่ให้บริการทำการปรับพอร์ต

ดังนั้นมีข้อสังเกตุในเรื่องนี้คือ หากเราเลือกลงทุนกองทุน RMF ของ บลจ.รายเดียว การสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุนจะทำได้ง่าย หรือมีต้นทุนที่น้อยกว่า การลงทุนในหลายบลจ.

ท้ายสุดนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุน