มาร์กอส ระงับตั้ง ‘กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ’ ไม่นานหลังลงนาม หวังศึกษาข้อมูลรอบคอบ

มาร์กอส ระงับตั้ง ‘กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ’ ไม่นานหลังลงนาม หวังศึกษาข้อมูลรอบคอบ

“เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์” ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศระงับการจัดตั้ง “Maharlika Investment Fund” กองทุนความมั่งคั่งของชาติชั่วคราว เพียงไม่กี่เดือนหลังจากลงนามเห็นชอบ ชี้ต้องการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ กูรูหวั่นแบงก์รัฐขาดสภาพคล่องหากต้องใส่เงินสนับสนุน

สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานถ้อยแถลงของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ วันนี้ (18 ต.ค.66) ว่า ได้ระงับการดำเนินการจัดตั้ง Maharlika Investment Fund กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนแรกของประเทศ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ลงนามในกฎหมาย และยกย่องกองทุนดังกล่าวต่อนักลงทุนต่างชาติ

โดยท่าทีของประธานาธิบดีครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่าย และเป็นแถลงการณ์ที่อยู่ในบันทึกการประชุมของรัฐบาลล่าสุด ซึ่งก่อนหน้านี้บรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และภาคประชาสังคมจำนวนมากออกมาคัดค้านการจัดตั้งกองทุน

“ประธานาธิบดีมาร์กอส ออกคำสั่งพักการดำเนินการเพราะต้องการศึกษาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับ IRR (การนำกฎ และข้อบังคับไปใช้) เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนจะบรรลุผลเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีมาตรการป้องกันเพื่อความโปร่งใส และความรับผิดชอบ” สำนักงานเลขาธิการบริหารกล่าวในแถลงการณ์โดยไม่มีการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย  ระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา มาร์กอสใช้การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อกระตุ้นความสนใจในกองทุน Maharlika Investment Fund ซึ่งได้รับการลงนามเป็นกฎหมายเมื่อเดือนก.ค. แต่ยังไม่มีการประกาศวันเปิดตัวตามแผน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบรรดาผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากก็ออกมาเตือนถึงความกังวลเรื่องเงินทุน และความโปร่งใส รวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลของกองทุนดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลพร้อมด้วยธนาคารของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ Land Bank of the Philippines (Landbank) และ Development Bank of the Philippines (DBP) จะต้องจัดหาเงินทุนเริ่มแรกสำหรับกองทุนนี้ โดยรัฐบาลจะใส่เงินเข้าไป 50,000 ล้านเปโซ (881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ผ่านมา Landbank กล่าวในแถลงการณ์ว่า บริษัท "ยังคงแข็งแกร่งและมีเงินทุนเพียงพอ" หลังจากอัดฉีดเงิน 5 หมื่นล้านเปโซ เข้ากองทุนแล้ว แต่ DBP ซึ่งใส่เงินเข้าไป 2.5 หมื่นล้านเปโซ อาจต้องจับตาปัญหาด้านสภาพคล่องในอนาคต

ด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลแสดงความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของกองทุนนี้ โดยกล่าวว่า ธนาคารของรัฐทั้งสองแห่งอาจประสบปัญหาสภาพคล่องจากการอัดฉีดเงินเข้ากองทุนดังกล่าว

“เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกสูง ดังนั้นภาคการธนาคารก็มีความเสี่ยงเช่นกัน” เจ้าหน้าที่รายนี้บอกกับนิเคอิ เอเชียโดยไม่เปิดเผยชื่อ

อ้างอิง

Nikkei Asia

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์