"ประเทศยากจนเอเชีย" อย่าง ไทย เวียดนาม ศรีลังกา เจอวิกฤติแก่ก่อนรวย - แก่ไร้ที่พึ่ง

"ประเทศยากจนเอเชีย" อย่าง ไทย เวียดนาม ศรีลังกา เจอวิกฤติแก่ก่อนรวย - แก่ไร้ที่พึ่ง

สำนักข่าวดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) เผยบทวิเคราะห์ประเทศยากจนในเอเชีย อย่างไทย เวียดนาม และศรีลังกา เผชิญปัญหาแก่ก่อนรวย แก่ไร้ที่พึ่ง และแก่ไม่มีที่ไป หลังพบประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว หวั่นรัฐแบกรับภาระหนัก

สำนักข่าวดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) รายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “Poor Asian countries face an ageing crisis” โดยระบุว่าประชาชนในประเทศยากจนในเอเชียอย่าง ไทย เวียดนาม และศรีลังกาเผชิญปัญหาสังคมสูงวัยหนัก 

โดยหากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่ประเทศไทย บทวิเคราะห์ดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า เพื่อให้เข้าใจว่าปัญหาข้างต้นนั้นเลวร้ายเพียงใดให้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ที่รู้จักกันดีในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ

ระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงประชากรสูงอายุจาก 7% ไปเป็น 14% ของแต่ละประเทศ

โดยระหว่างปี 2545 ถึงปี 2564 สัดส่วนของประชากรไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 14% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียง 19 ปี 

ทั้งนี้ เมื่อสังคมเริ่ม "สูงวัย" การเปลี่ยนแปลงเดียวกันนี้ในญี่ปุ่นใช้เวลา 24 ปีอเมริกา 72 ปีและฝรั่งเศส 115 แต่สำหรับประเทศไทยนั้นแตกต่างจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เพราะประชาชนในไทยนั้น “แก่ก่อนรวย”

โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อคนของไทยในปี 2564 อยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2.6 แสนบาท) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นในอายุใกล้เคียงกับผู้สูงอายุในไทย พบว่าในปี 2537 ระดับรายได้ในสกุลเงินดอลลาร์ของผู้สูงอายุสูงกว่าไทยถึง 5 เท่า

ปัญหาสังคมสูงวัยที่แก่ก่อนรวยของประเทศไทยตอกย้ำแนวโน้มให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศยากจน เช่น เวียดนาม และศรีลังกา ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาล 

โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวดิอีโคโนมิสต์ ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากประเทศไทย จะเผชิญปัญหาเเก่ก่อนรวยแล้วยังเผชิญปัญหามีจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว กล่าวคือ มีจำนวนมากถึง 14% เพียงแค่ 19 ปี ในขณะที่ฝรั่งเศสใช้เวลากว่า 100 ปี อเมริกา 72 ปี และ ญี่ปุ่นใช้เวลา 24 ปีอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้ยังเผชิญปัญหา “แก่ไม่มีที่ไป” โดยประชากรวัยทำงานของประเทศไทยจะลดลงจะส่งผลให้ประชากรวัยทำงานต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ ทว่าผู้สูงอายุ และเด็กหลายคนยังต้องทำงานอยู่ในภาคการเกษตรในต่างจังหวัดอยู่เหมือนเดิม

ประกอบกับปัญหา “แก่ไร้ที่พึ่ง-แก่แบบโดดเดี่ยว” เนื่องจากประเทศที่ประชากรเเก่แบบไม่ทันตั้งตัวภายในเวลาไม่กี่สิบปี ทำให้ขาดการเตรียมตัวทั้งด้านระดับทางสังคม การเงิน และการเตรียมพร้อมในการรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป

ทั้งหมดหมายความว่าประเทศไทย จะมีคนสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ภาระของรัฐในการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงในการล้มลงของระบบประกันสังคม และระบบดูแลสุขภาพ

อ้างอิง

The Economist

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์