ตลาดหุ้นเป็นอย่างไรในภาวะสงคราม

ตลาดหุ้นเป็นอย่างไรในภาวะสงคราม

จากสงคราม "อิสราเอล-ฮามาส" ในครั้งนี้ ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกต่างกังวล โดยเฉพาะตลาดหุ้นว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ติดตามได้จากบทความนี้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ กลุ่มฮามาส บุกโจมตี อิสราเอล ในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลแก่นักลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้น ทั่วโลกก็ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาก่อนแล้ว หลังจากผลการประชุม Fed ในเดือนกันยายน 2566 ที่คณะกรรมการ Fed ส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไว้นานกว่าที่คาด 

อย่างไรก็ดีหลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกซึมซับข่าวสงครามที่เกิดขึ้นและเปิดทำการตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับไม่ได้ตอบรับในเชิงลบมากนัก โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 วันทำการติดต่อกัน ต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 (ก่อนหน้าที่จะเกิดสงคราม) จนถึงวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.78% ด้านตลาดหุ้นยุโรปดัชนี Euro Stoxx 50 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.36% ในระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2566 ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ตลาดหุ้นจีน และญี่ปุ่นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3 วันทำการแรกของสัปดาห์เช่นเดียวกัน โดยดัชนี HSCEI ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.78% และดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.92%

นอกจากนี้สถานการณ์สู้รบที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้นักลงทุนเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งทองคำและพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลง (บวกกับความเห็นของคณะกรรมการ Fed หลายคนที่ออกมาให้ความเห็นในโทน Hawkish ลดลง) ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในสัปดาห์นี้

สำหรับเหตุการณ์หลังจากนี้จะส่งผลต่อตลาดหุ้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ว่าจะบานปลายไปมากกว่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงการโจมตีในครั้งนี้กับประเทศอิหร่าน และการมีส่วนรวมกับสงครามของชาติอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรกับ อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ ซึ่งหากศึกษาจากข้อมูลสถิติที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขึ้น จะพบว่าตลาดหุ้นจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วหรือติดลบไม่มากนัก เมื่อสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมาก และสถานการณ์สามารถคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว

โดยข้อมูลสถิติที่เก็บมาตั้งแต่เหตุการณ์โจมตี Pearl Harbor ในปี 1941 จนถึง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2022 ต่อความเคลื่อนไหวของดัชนี S&P 500 พบว่า ค่าเฉลี่ยของการปรับลงใน 1 วันอยู่ที่ราว -1.1%, ค่าเฉลี่ยของการปรับลดลงจากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุดอยู่ที่ -4.7% โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการปรับลงจากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุดที่ราว 19.4 วัน และใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับมาเฉลี่ยอยู่ที่ 42.3 วัน ซึ่งจากทั้งหมด 24 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 82 ปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 4 เหตุการณ์ ที่ตลาดปรับลงจากจุดสูงสุดมาจุดต่ำสุดเกินกว่า 10% คือเหตุการณ์ โจมตี Pearl Harbor (-19.8%), เหตุการณ์สงครามเกาหลี (-12.9%), เหตุการณ์อิรักบุกคูเวต (-16.9%) และเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 (-11.6%)

ผลกระทบต่อตลาดหุ้น ในช่วงที่เกิดความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ

ตลาดหุ้นเป็นอย่างไรในภาวะสงคราม     

อย่างไรก็ดีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นจากแต่ละเหตุการณ์ต่างก็มีปัจจัยเฉพาะตัว และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นคือ ท่าทีของ Fed ต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ซี่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ, การประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่ในไตรมาส 3 คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ดี

หากประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบัน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ สามารถคาดการณ์ได้ว่าสงครามในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นมากนัก และยังมีโอกาสที่ ตลาดหุ้น จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี

ที่มา : LPL Research, Bloomberg, Factset, S&P Dow Jones Indices, CFRA, Strategas as of 9 Oct 2023

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds