ISSB กับมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

ISSB กับมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

ในขณะนี้กิจการส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันจากนักลงทุน สถาบันการเงิน และลูกค้าของกิจการที่ต้องการให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและสามารถเปรียบเทียบกันได้กับกิจการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนและซื้อสินค้าและบริการ

ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลได้เริ่มกำหนดการเปิดเผยข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ กลต. ที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในรายงานประจำปีหรือ  56-1 One Report ตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรอบการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความหลากหลายและมีความไม่สอดคล้องกันทำให้ผู้จัดทำรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนและผู้ที่ใช้ข้อมูลดังกล่าว ไม่สามารถจัดเก็บหรือใช้ข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบตามมาตรฐานเดียวกันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพัฒนากรอบการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เป็นมาตรฐานสากลโดยหน่วยงาน International Sustainability Standard Board หรือ ISSB ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในการประชุม COP26 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีบทบาทหลักในการพัฒนาแนวทางการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เป็นสากล ซึ่งรวมถึงการจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ในเดือนมิถุนายน 2566 ISSB ได้ออกมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 2 ฉบับได้แก่ IFRS S1 เรื่องข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับความยั่งยืน และ IFRS S2 การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยมาตรฐานทั้งสองฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหัวข้อสำคัญและตัวชี้วัดให้กิจการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ (รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รายงานทางการเงินเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ที่จะเป็นความเสี่ยงขององค์กร และมีผลต่อมูลค่ากิจการ

การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานทั้งสองฉบับนี้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานทางการเงินที่กิจการจะต้องจัดทำนอกเหนือไปจากงบการเงิน ซึ่งจะตัองมีขอบเขตการรายงานที่ครอบคลุมเช่นเดียวกับที่รายงานในงบการเงินของกิจการ เช่น ต้องรวมกิจการในกลุ่มทั้งหมดในการรายงานเช่นเดียวกับในงบการเงิน รวมทั้งต้องเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวพร้อมกับงบการเงินของกิจการ รวมทั้งอาจต้องมีการตรวจสอบหรือสอบทานข้อมูลดังกล่าวโดยบุคคลภายนอกเช่นเดียวกับงบการเงินด้วย

 

 

โดยข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลจะมีหลักการพื้นฐานดังต่อไปนี้

  1. การกำกับดูแล (Governance) เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการกำกับดูแล ควบคุม และขั้นตอนที่กิจการใช้ติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น เปิดเผยบุคคลหรือหน่วยงานในองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว ความเหมาะสมของทักษะและความสามารถของบุคคลหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล วิธีการในการบูรณาการความคิดเห็นของบุคคลหรือหน่วยงานดังกล่าวในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เป็นต้น
  2. กลยุทธ์ (Strategy) เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการในการรับมือความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่อาจกระทบกับโมเดลธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ และกลยุทธ์ของกิจการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่น เปิดเผยผลกระทบของความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดสำหรับรอบระยะเวลารายงาน และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เป็นต้น
  3. การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการที่กิจการใช้ในการระบุ ประเมิน และบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น เปิดเผยวิธีการที่กิจการใช้ประเมินความน่าจะเป็นและผลกระทบของความเสี่ยง (เช่น ตัวแปรเชิงคุณภาพ เกณฑ์เชิงปริมาณ หรือเกณฑ์อื่นๆ) ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยง เช่น แหล่งข้อมูล ขอบเขตการดำเนินงานที่ครอบคลุม และรายละเอียดที่ใช้ในสมมติฐาน เป็นต้น
  4. ตัวชี้วัดและเป้าหมาย (Metrics and Targets) เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการวัดผล ติดตาม และบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินผลดำเนินงาน รวมถึงความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น เปิดเผยวิธีการกำหนดนิยามตัวชี้วัด วิธีที่ใช้ในการคำนวณเป้าหมาย ข้อมูลที่นำมาใช้ในการคำนวณ รวมถึงข้อสมมติฐานที่สำคัญ เป็นต้น

 

มาตรฐาน IFRS S1 และ IFRS S2 จะมีผลบังคับใช้ในต่างประเทศสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 นั่นหมายความว่านักลงทุนจะเริ่มเห็นการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2568 ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลสำหรับปี 2567 อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแผนการบังคับใช้มาตรฐานทั้งสองฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ประเมินจากความสำคัญของมาตรฐานทั้งสองฉบับที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานด้านความยั่งยืนระหว่างประเทศ กิจการอาจต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เช่น ทำความเข้าใจข้อกำหนดของการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานทั้งสองฉบับ วิเคราะห์ความพร้อมของข้อมูลภายในองค์กรสำหรับการเปิดเผย รวมถึงสร้างกระบวนการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและมีการควบคุมภายในที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมาตรฐานทั้งสองฉบับมีการบังคับใช้ในประเทศไทย กิจการจะสามารถดำเนินการเปิดเผยข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันต่อเวลาในการเผยแพร่ข้อมูล