บลจ.แนะซื้อ 'ทอง’ ติดพอร์ต 10% กระจายความเสี่ยงในภาวะสงคราม

บลจ.แนะซื้อ 'ทอง’ ติดพอร์ต 10%  กระจายความเสี่ยงในภาวะสงคราม

“กองทุน” ชี้ สงครามหนุนราคาทองคำขึ้น "บัวหลวง“ มองเป็นแรงเก็งกำไรระยะสั้น ”ทหารไทยอีสท์สปริง" แนะซื้อติดพอร์ต 5-10% เพื่อกระจายความเสี่ยง แม้การสู้รบไม่ได้มีการขยายวงกว้างเป็นสงครามภูมิภาค

ในยามมีศึกสงคราม สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมักจะได้รับผลกระทบเกิดความผันผวนค่อนข้างหนัก ขณะที่ทองคำ เป็นหลุมหลบภัยชั้นดี เพราะถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ล่าสุดกับสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส การเข้าไปลงทุนในทองคำกลับได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบนั้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม “กูรู” กลับมองว่า แม้ราคาจะปรับสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงที่มีสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส แต่ราคาก็ยังไม่ได้ปรับสูงมากเหมือนเมื่อครั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนช่วงปีที่ผ่านมา เพราะยังอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้ขยายออกสู่วงกว้าง ฉะนั้นทองคำในช่วงนี้อาจจะเป็นการเข้ามาเก็งกำไรได้ในระยะสั้นเท่านั้น

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Chief Executive Officer บลจ.บัวหลวง (BBLAM) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ทองคำแม้จะได้รับอานิสงส์ทุกครั้งจากความไม่แน่นอนความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง เพราะเมื่อมีสงครามจะมีนักเก็งกำไรกองทุน ประเภทเฮดจ์ฟันด์ (เป็นการระดมเงินลงทุนก้อนใหญ่) เนื่องจากว่า เป็นการเล่นเก็งกำไรในภาวะที่เกิดสงครามยังมีความยืดเยื้อ 

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาทองคำปรับตัวพุ่งไปอย่างมาก เนื่องจากมีความยืดเยื้อมามากกว่าปีครึ่ง จึงมีการเข้าไปลงทุนทองคำ FUNDAMENTAL โดยสาเหตุหลักๆ ของการเข้าไปลงทุนในทองคำนั้นประกอบไปด้วย จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะสะท้อนการลงทุนจากธนาคารกลางเฟด และสะท้อนเข้ามาอยู่ในบอนด์ยีลด์ รวมถึงอุปสงค์จากอุตสาหกรรม เช่น จิวเวลรี่ เป็นต้น และดีมานด์จากนักลงทุนสถาบัน เช่น ธนาคารกลางต่างๆ ที่เข้ามาซื้อทองคำ 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เข้ามากำหนดทิศทางราคาทองคำหลักๆ นั่นคือ ทองคำปัจจุบันวัดค่าจากดอลลาร์ และ ปัจจุบันดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากว่า 7% ส่งผลให้ทองคำอ่อนค่าลงมา 7% เท่ากัน ฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ชะลอตัวลง รวมถึงเงินเฟ้อยังไม่ชะลอตัวลงได้ตามเป้าที่เฟดตั้งใจไว้ ส่งผลให้ดอลลาร์อาจจะมีสิทธิที่แข็งค่าอยู่ เนื่องจากคาดว่า อัตราดอกเบี้ยปลายปีนี้อาจมีสิทธิปรับขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 

"เศรษฐกิจยุโรป และจีนก็ยังไม่สู้ดี อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหลายแห่งชะลอตัว ความต้องการทองคำน้อยลง กำลังซื้อของผู้บริโภคก็น้อยลง ทองคำยังอยู่แนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แต่ก็มีช่วงที่ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในเดือนพ.ค. แต่ขณะที่ทองคำที่เป็นในรูปแบบเงินบาทยังคงไม่ลง เนื่องจากเงินบาทบ้านเรายังอ่อนค่า" 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดสงครามอิสราเอลกับฮามาส ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น จึงเป็นจังหวะที่นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าไปเก็งกำไร แต่ราคาอาจจะไม่ได้ขยับมาก เหมือนช่วงสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่ถ้าทองคำเป็นการเน้นถือครองระยะยาวมากกว่า 

บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการเข้ามาลงทุนที่ได้ประโยชน์จะเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนในทองคำที่จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจะอยู่ในช่วงที่เกิดภาวะของสงครามมากกว่า เพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น และถือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในช่วงของสงครามด้วย 

อย่างไรก็ตาม ทองคำถือว่าได้รับประโยชน์ในระยะสั้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจึงควรมีติดพอร์ตไว้ประมาณ 5 -10% แม้ว่าสงครามอิสราเอลกับฮามาสจะมีความยืดเยื้อ แต่ไม่ได้มีการขยายวงกว้างไปยังสงครามภูมิภาค เหมือนกับสงครามรัสเซียกับยูเครนที่เป็นสงครามตัวแทน เพราะยูเครนเป็นฝั่งของนาโต และฝั่งของสหรัฐ ขณะที่รัสเซียเป็นอีกฝั่งหนึ่งที่กำลังมีประเด็นกับสหรัฐอยู่ อาจจะได้จีนเข้ามา

ทั้งนี้ มองว่า การสู้รบกันระหว่างฉนวนกาซา ปาเลสไตน์ อิสราเอลมีมานานมากแล้ว ถึงแม้ล่าสุดสหรัฐจะส่งกองกำลังไปช่วยแต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสองฝ่าย เนื่องจากฝ่ายของปาเลสไตน์ หรือกลุ่มฮามาสอาจจะมีพันธมิตรห่างๆ อย่างอิหร่านอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะขนาดวงกว้างออกไป 

“หากสังเกตดูว่า ทองคำจาก 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เด้งตัวขึ้นมาประมาณ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่า มีการปรับเด้งขึ้นมาไม่มาก หรือเฉลี่ยที่ 2% และหลังจากนี้มองว่า แรงส่งอาจมีค่อนข้างจำกัด แต่ก็ต้องยอมรับว่า สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล รอบนี้มีความเสียหายค่อนข้างมากในรอบ 20 ปี แต่อยู่ในวงจำกัดแค่ตรงนั้น ดังนั้นการมีทองคำเก็บไว้เป็นอีกหนึ่งทางเพื่อกระจายความเสี่ยง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Real Yield หรือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงขณะนี้ โดยดูจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และลบด้วยเงินเฟ้อ ขณะนี้ Real Yield ค่อนข้างเป็นบวกค่อนข้างมาก จึงเป็นตัวกดดันให้ทองคำไม่ได้ perform ต่อ ซึ่ง Real Yield ขณะนี้ถ้านำผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ลบด้วยเงินเฟ้อ Real Yield อยู่ที่ 3%

แต่ถ้านำผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลบด้วยเงินเฟ้อ Real Yield อยู่ที่ 2% นั่นแปลว่า ก่อนที่เฟดจะปรับตัวขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงแรงๆ Real Yield จึงติดลบ และทองคำ perform นักลงทุนจึงเข้ามาลงทุนในทองคำเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นตัวป้องกันเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี แต่ในวันนี้เริ่มเห็นกระแสเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมา แล้ว Real Yield ค่อนข้างเป็นบวกสูงสุดในรอบ 10 ฉะนั้นทองคำจริงได้ประโยชน์ในช่วงสั้นๆ และคิดว่าหลังจากนี้จะเป็นภาพไซด์เวย์ 

ทั้งนี้ ทองคำมี 4 ปัจจัยที่เข้ามากระทบทองคำ 1. ดีมานด์จากนักลงทุน 2. ดีมานด์จากแบงก์ชาติ จากการที่ธนาคารแต่ละประเทศเข้าเก็บทองคำ ในแต่ละประเทศไม่ได้มีการเก็บพร้อมกัน และมีโครงสร้างเงินทุนสำรองที่แตกต่างกัน 3.ดีมานด์จากเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะมีส่วนประกอบของทองคำ แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวดีมานด์ตรงนี้จึงไม่ค่อยมากเท่าไร และสุดท้าย 4.ดีมานด์จากจิวเวลรี่ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวดีมานด์จากเครื่องประดับไม่ค่อยเยอะมาก

 

บลจ.แนะซื้อ \'ทอง’ ติดพอร์ต 10%  กระจายความเสี่ยงในภาวะสงคราม