สนค.วิเคราะห์สงครามอิสราเอลหวั่นบานปลาย เสี่ยงกระทบส่งออกไปตะวันออกกลาง

สนค.วิเคราะห์สงครามอิสราเอลหวั่นบานปลาย เสี่ยงกระทบส่งออกไปตะวันออกกลาง

สนค.เผย สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หากอยู่ในวงแคบไม่กระทบส่งออกไทย เหตุอิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าลำดับต้นของไทย แต่หากขยายลุกลามไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง กระทบต่อส่งออกไทยแน่

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ต่อเศรษฐกิจการค้าไทย พบว่า  มูลค่าการค้ารวมไทยกับอิสราเอล อิสราเอลเป็นคู่ค้าลำดับที่ 42 ของไทย การค้าระหว่างไทย – อิสราเอลมีมูลค่า 1,401.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.0%  คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของการค้ารวมของไทยเท่านั้น โดย อิสราเอลเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 38 ของไทย      มีมูลค่า 850.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.9%   คิดเป็นสัดส่วน0.3 % ของการส่งออกของรวมของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป  อัญมณีและเครื่องประดับ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ข้าว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง  เม็ดพลาสติก  ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ  เป็นต้น

การนำเข้าของไทยจากอิสราเอล อิสราเอลเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 45 ของไทย     มีมูลค่า 551.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 22.9%   คิดเป็นสัดส่วน 0.2 % ของการนำเข้ารวมของไทย โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี  ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยุทธปัจจัย  เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์  แผงวงจรไฟฟ้า  ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่ง  ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น

จากการประเมินผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย กรณีที่สถานการณ์การสู้รบที่อยู่ในพื้นที่จำกัด (บริเวณฉนวนกาซา) ยังไม่มีการปิดประเทศ หรือปิดกั้นระบบการขนส่งทั้งหมด น่าจะยังไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ขัดแย้ง (อิสราเอลและปาเลสไตน์) หรือหากกรณีที่ไม่สามารถส่งออกไปได้ ก็จะไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกรวมของไทยมากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่คู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าต่างประเทศของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าสงครามดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยมากนัก

 ส่วนการนำเข้ากรณีที่สถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัด ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่ออุปทานน้ำมัน เพราะไม่ได้มีการนำเข้าน้ำมันจากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ และมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากหลากหลายแหล่ง แต่หากสถานการณ์ขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาคจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางคือแหล่งนำเข้าสินค้าพลังงาน (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ)   ที่สำคัญของไทย โดยไทยนำเข้าสินค้าพลังงานจากตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วน 52.3%  ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมดของไทย

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบทางอ้อมนั้น 1.จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยหลังเกิดเหตุการณ์สู้รบส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 ปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลว่าสถานการณ์ความไม่สงบอาจกระตุ้นให้เกิดความไม่มั่นคงในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันในตะวันออกกลาง

 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีต พบว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์มักจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อการหยุดชะงักของห่วงโซอุปทานน้ำมันดิบ ทั้งนี้ หากความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้างมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก (พื้นที่สงครามมีการผลิตน้ำมันดิบเพียง 7.2 แสนบาร์เรลต่อวัน) และไม่ได้กระทบต่อการขนส่งน้ำมันที่คลองคลองสุเอซมากนัก

 2. ผลกระทบต่อการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย - ตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วน 7.6 %ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย การส่งออกคิดเป็นสัดส่วน%  3.8 ของการส่งออกรวม ขยายตัว 23.5% และการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 11.2 %ของการนำเข้ารวม ขยายตัว 53.5%  ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเป้าหมายการส่งออกของไทยชดเชยตลาดหลัก   ที่ชะลอตัวในปีนี้ และเป็นแหล่งนำเข้าพลังงานสำคัญที่สุดของไทย

ดังนั้น หากสงครามระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ลุกลามสู่ความขัดแย้งในระดับภูมิภาคจะส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้รับผลกระทบ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ชะลอตัว ขณะที่การนำเข้าพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการด้านการขนส่งและอุปทานน้ำมันที่ลดลงในภูมิภาค

สำหรับผลกระทบที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในพื้นที่ภัยสงครามในเชิงเศรษฐกิจการค้า  เช่น    ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและค่าประกันภัยในเส้นทางที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอาจปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความล่าช้าในการขนส่ง ทั้งนี้ อาจต้องติดตามสถานการณ์ท่าเรือนำเข้าที่สำคัญของอิสราเอลอย่างท่าเรือ Haifa ท่าเรือ Ashdod หากเกิดกรณีที่มีการยกระดับความขัดแย้งขึ้น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศต่อไป