สรุปการยกเว้นภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร มานะสันต์

สรุปการยกเว้นภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร มานะสันต์

นับแต่ปี 2561 ที่มีการตรา พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 14 พ.ค. 2561

อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่หลายฉบับ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

    ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลตามป.รัษฎากร
    การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจเสียภาษีได้ในหลายรายการ ดังนี้
    กลุ่มแรก ภาษีเงินได้ ม.40(4)(ซ) กำหนดให้จัดเก็บภาษีจากส่วนแบ่งกําไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากถือครองโทเคนดิจิทัล (โทเคน) และ

ม.40(4)(ฌ) จัดเก็บภาษีจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (คริปโท) หรือ โทเคน เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน นอกจากนี้หากมีการเสนอขายโทเคนของบริษัท (ระดมทุนในตลาดแรก หรือการออก ICO) ย่อมมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย 

 กลุ่มที่สอง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กำหนดให้มีการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึ่งประเมิณข้างต้น ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น (ม.50(2)(ฉ))  และ 

กลุ่มที่สาม ภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนคริปโทหรือโทเคนที่กระทำภายในประเทศอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (ม. 77/2)

การบรรเทาภาระภาษีในตลาดรอง
    ต่อมาในปี 2565 กระทรวงการคลังได้มีแนวนโยบายในการบรรเทาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง เนื่องจากในทางปฏิบัติ พบปัญหาในการคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม

เช่น ปัญหาในการแสดงราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัญหาการนำผลขาดทุนมาคำนวณออกจากกำไรจากการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล และปัญหาการไม่สามารถแสดงรายได้ที่แท้จริง เนื่องจากนักลงทุนไม่สามารถนำผลขาดทุนมาคำนวณออกจากกำไรจากการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 

สรุปการยกเว้นภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร มานะสันต์

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น จึงได้มีการยกเว้นภาษีในรายการต่าง ๆ ดังนี้

    1.ยกเว้น VAT ใน Exchange โดยให้ยกเว้น VAT สำหรับการโอนคริปโทหรือโทเคนที่กระทำในศูนย์ซื้อขาย (exchange) ที่ได้รับอนญาตให้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ซึ่งการยกเว้นในรายการนี้ เป็นการยกเว้นตามกรอบเวลา โดยอาจพิจารณาขยายได้เมื่อครบกำหนด (พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 744 พ.ศ. 2565) 

    2.ยกเว้น VAT ให้ Retail CBDC โดยให้ยกเว้น VAT สำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลดิจิทัลของธปท. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ซึ่งการยกเว้นในรายการนี้เป็นการให้ตามกรอบเวลาเช่นกัน (พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 745 พ.ศ. 2565)

    3.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  (ให้นำกำไรหักขาดทุนได้) สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอน คริปโท/โทเคน เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอน คริปโท/โทเคน ที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน โดยให้คำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุน เหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ เฉพาะผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอน คริปโท/โทเคน ที่กระทำใน exchange ที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการคำนวณกำไร/ขาดทุน คริปโท/โทเคน ให้เป็นไปตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยหากเลือกใช้วิธีใดแล้วให้ใช้วิธีดังกล่าวตลอดปีภาษี โดยจัดทำบัญชีกำไรและผลขาดทุน รวมถึงต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารดังกล่าวพร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 380 และ ประกาศอธิบดี ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2565)

สรุปการยกเว้นภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร มานะสันต์

    การบรรเทาภาระภาษีในตลาดแรก : กรณี Investment Token

    ล่าสุด ในเดือน ส.ค. 2566 ได้มีการออกกฎหมายเพื่อยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งเป็นภาษีที่เกิดจากการออก ICO ในตลาดแรก โดยหากพิจารณาการออก Investment Token พบว่า การระดมทุนในลักษณะดังกล่าว มีความใกล้เคียงกับการออกหลักทรัพย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายตราสารหนี้ (debt) หรือ ตราสารทุน (equity) ตามแต่กรณี

อีกทั้งปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขเพิ่มเติม นิยาม “หลักทรัพย์” ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้รวม Investment Token เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งด้วย

จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงกฎหมายภาษีให้การเสนอขาย Investment Token ต่อประชาชนมีภาระภาษีเช่นเดียวกันกับการออกหลักทรัพย์

กล่าวคือ ผู้ออกและเสนอขายไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเดิมเคยเก็บจากผู้ออก และกฎหมายให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 14 พ.ค. 2561 (พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 779 พ.ศ. 2566)

Utility Token ไม่ได้รับยกเว้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากฎหมายปัจจุบัน พบว่า การยกเว้นภาษีเงินได้ และ VAT จะยกเว้นให้เฉพาะกรณีการเสนอขาย Investment token ในตลาดแรกเท่านั้น ซึ่งกฎหมายยังไม่ได้ยกเว้นให้กับการเสนอขายเหรียญประเภท Utility Token

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หากบริษัทเสนอขายเหรียญที่มีคุณลักษณะเป็นทั้ง Investment และ Utility Token ก็ต้องสามารถแยกส่วนของ Investment token ออกจากส่วนของ Utility Token ได้ เนื่องจากการยกเว้นภาษีจะให้เฉพาะส่วนของ Investment Token เท่านั้น

สรุปการยกเว้นภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร มานะสันต์

ความแตกต่างระหว่าง Investment token และ Utility Token  
เหตุผลที่ยังไม่ได้ยกเว้นให้ Utility Token อาจวิเคราะห์ได้ว่า Investment Token ถูกสร้างขึ้นเพื่อบันทึกและกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้/ตราสารทุนตามหลักการของกฎหมายหลักทรัพย์ ในขณะที่ Utility Token มีทั้งรูปแบบ “พร้อมใช้” และ “ไม่พร้อมใช้” โดยมักถูกสร้างเพื่อบันทึกสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ

เช่น อาจมีลักษณะคล้ายการออกบัตรกำนัล หรือคูปอง หรือออกเพื่อขายสินค้าหรือบริการล่วงหน้า โดยอาจมิได้มีลักษณะคล้ายตราสารหนี้/ตราสารทุนหากเปรียบเทียบกับกรณีของ Investment Token ดังนั้น ภาครัฐอยู่ระหว่างศึกษาและปรับปรุงกฎหมายทั้งด้านการกำกับดูแล และภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน และเพื่อให้ Financial products ที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน พึ่งมีภาระภาษีในลักษณะเดียวกัน