ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ก.ย.66 ‘อ่อนค่า ’ ตามดอลลาร์แข็งค่า -จ้างงานสหรัฐต่ำคาด

ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ก.ย.66 ‘อ่อนค่า ’  ตามดอลลาร์แข็งค่า -จ้างงานสหรัฐต่ำคาด

ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ก.ย.66 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้การจ้างงานสหรัฐต่ำคาด ตลาดมองเฟดมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หนุนดอลลาร์แข็งค่า และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำจังหวะย่อตัว กดดันเงินบาทช่วงนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.50-35.70 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ35.64 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.61 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.70 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า "ค่าเงินบาท"ทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.60-35.66 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้และเฟดก็อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน 

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันราคาทองคำ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทในช่วงนี้เช่นกัน

ค่าเงินบาทวันนี้ 8 ก.ย.66 ‘อ่อนค่า ’  ตามดอลลาร์แข็งค่า -จ้างงานสหรัฐต่ำคาด

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหรือแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (ล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อราว 52% และการลดดอกเบี้ยจะเริ่มในการประชุมเดือนมิถุนายนปีหน้า) เงินดอลลาร์ก็จะยังไม่สามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ทำให้โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ซึ่งหลังจากที่เงินบาทได้ทยอยอ่อนค่าทะลุทุกโซนแนวต้านที่เราประเมินก่อนหน้า ทั้งโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ และ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า เงินบาทก็มีโอกาสที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงได้บ้าง จากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก ทั้งนี้ ต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด ว่าจะเริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้มากน้อยเพียงใด หลังล่าสุด แรงขายหุ้นไทยเริ่มชะลอลง ส่วนในฝั่งบอนด์ นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาซื้อมากขึ้นโดยเฉพาะในฝั่งบอนด์ระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรในช่วงนี้

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ยังคงสร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาดว่าเฟดอาจเดินหน้าขึ้นต่อได้ หรือ เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงความกังวลผลกระทบจากการที่ทางการจีนห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐบาลกลางใช้ “Iphone” ได้กดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ และกลุ่ม Semiconductor ต่างปรับตัวลดลง (Apple -2.9%, Nvidia -1.7%)  ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.32% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.14% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ยังคงส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (LVMH -1.0%, Rio Tinto -2.6%) นอกจากนี้ แรงขายหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML -3.8%) จากความกังวลการห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางจีนใช้ “IPhone” และอุปกรณ์สื่อสารจากต่างประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นยุโรปทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่างกลุ่ม Healthcare (Novo Nordisk +1.9%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังมีความกังวลว่าเฟดอาจเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นหรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะนี้ยังคงออกมาดีกว่าคาด แต่ทว่าผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังเชื่อว่า เฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว กอปรกับ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.30% ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 4.26%  ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับ มุมมองเดิมของเราว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว เนื่องจากระดับยีลด์ที่สูงขึ้น มี risk/reward ที่น่าสนใจและเรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ ก็อาจปรับตัวขึ้นไม่ได้มาก ยกเว้นว่าเฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ซึ่งเราคงประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวยังต่ำอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105 จุด (กรอบ 104.9-105.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ(สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงผันผวนใกล้ระดับ 1,943 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดว่าจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีกหรือไม่