‘ทองคำ’ในประเทศจ่อนิวไฮ แตะ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รับเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย

‘ทองคำ’ในประเทศจ่อนิวไฮ แตะ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รับเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย

“นายกสมาคมค้าทอง”ชี้ แนวโน้มมูลค่าซื้อขายทองคำในประเทศฟื้น จากตั้งแต่ต้นวูบ20-30% เหตุ จัดตั้งรัฐบาล-ท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว ดันเศรษฐกิจโต “วายแอลจี” คาดเฟดลดอกเบี้ย ดันราคาทองคำมี.ค.67 แตะ 2.1 พันดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนราคาในประเทศทำนิวไฮ เผย คนไทยหันลงทุนทองมากขึ้น

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า แนวโน้มการซื้อขายทองคำในประเทศในระยะสั้นมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้ว และภาคการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้น หนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และเมื่อเศรษฐกิจเติบโตก็จะทำให้การซื้อขายทองคำในตลาดมากขึ้น หลังจากตั้งแต่ต้นปีนี้ยอดการซื้อทองคำลดลง 20-30% 

นอกจากนี้ทำให้การขายและจำนำทองคำลดลงเช่นกัน รวมทั้งขายทองไปแล้วก็ไม่ซื้อกลับ เพราะ เศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ร้านค้าทองในประเทศไทยปิดตัวลง  ส่วนรายงานตัวเลขที่ระบุว่าร้านค้าทองปิดกว่า 4,000 แห่งก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีมูลความจริง

อย่างไรก็ตามมองว่าทองคำยังมีความสำคัญในฐานะสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยง และมั่นคง สะท้อนจากประเทศต่างๆเลือกใช้ทองเป็นเงินสำรอง ท่ามกลางสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย หรือสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน   

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ YLG กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง(เฟด)ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำโลก  ซึ่งคาดว่าเฟดจะมีการพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมครั้งต่อไป 

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นแรงหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบ 2,075-2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงเดือนมี.ค.2567 และอาจทำให้ราคาทองคำในประเทศทำจุดสูงสุดใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนั้นด้วยเช่นกัน 

 สำหรับแนวโน้มอีก 3-4 ปี ประเทศไทยจะมีการบริโภคทองคำเฉลี่ย 100 ตันต่อปี ซึ่งใกล้ระดับที่เคยสูงสุดที่ 150 ตันต่อปีในปี 2557 จากปัจจุบันประเทศไทยมีการบริโภคทองคำโดยเฉลี่ย 63 ตันต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่ จีน และ อินเดีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก ปัจจุบันแม้คนไทยจะไม่ค่อยนิยมสวมใส่ทองคำในรูปของเครื่องประดับแล้ว แต่คนไทยหันมาซื้อขายทองคำผ่านระบบออนไลน์เพื่อลงทุนมากขึ้น ทำให้ตลาดทองคำในประเทศยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง

     นายธนรัชต์ พสววงส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัซ จำกัด กล่าวว่า การนำเข้าและส่งออกทองคำไทยกำลังฟื้นตัว โดยในปี 2565 มีการส่งออก 201.5 ตัน เพิ่มขึ้น 105% จากปี 2563 และตลาดทองเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ทำให้บริษัทค้าทองในประเทศไทยต้องเข้าใจโมเดลการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ยุคดิจิทัล จากเดิมที่มีเพียงการซื้อทองที่ร้านมาสู่การซื้อทองและเทรดทองบนแพลตฟอร์มออนไลน์

   โดยปริมาณการซื้อขายทองในตลาดทองฟิวเจอร์ส (Gold Futures)มีเกือบ 2 ตันต่อวัน ถือเป็นมูลค่าและปริมาณที่สูงมาก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อขายอยู่ที่ 49% ตามด้วยนักลงทุนรายบุคคล 42% และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ 9%

     สำหรับกองทุนทองคำ(Gold fund)ขณะนี้มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 51 กองทุน ตามข้อมูลของ AMC Morningstar Thai mutual fund ( ณ วันที่ 1 ก.ย 2566) พบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 45% มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

นายณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานฝ่ายบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก  กล่าวว่า สัญญาซื้อขาย Gold Futures ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(TFEX)ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่4 ในภูมิภาคเอเชีย โดยครึ่งปีแรก2566มีวอลุ่มซื้อขายที่อยู่ที่ 6.1 พันล้านดอลลาร์ เกือบจะใกล้เคียงกับ Japan Exchange Group ของญี่ปุ่น ที่มีวอลุ่มอยู่ที่ 7.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอันดับที่ 3 ในขณะนี้

     นายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคทองคำในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากตลาดทองคำในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือการลงทุนและการใช้งาน(สวมใส่) ซึ่งการใช้ทองในประเทศไทยถูกโยงเข้ากับวิธีชีวิตตั้งแต่โบราณกาล รวมทั้งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทอง ในรูปแบบทองรูปพรรณที่เป็นเครื่องประดับ

     ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าทองคำและสมาชิกกำลังร่วมกันหารือจัดตั้ง SRO หรือ Self Regulation Organization เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่และสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดค้าทองในประเทศไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและสร้างความโปร่งเป็นหลัก จากก่อนหน้านี้มีกรณีโบรกเกอร์ทองเถื่อนที่ทำลายตลาดค้าทองในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงต้นปีหน้า รวมถึงเป็นการตอกย้ำเรื่อง ESG หรือความยั่งยืนในตลาดค้าทองมากขึ้น