เงินตราสกุลใหม่ BRICS จะเกิดขึ้นจริงหรือ

เงินตราสกุลใหม่ BRICS จะเกิดขึ้นจริงหรือ

การประชุมผู้นำ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ครั้งที่ 15 ที่แอฟริกาใต้ ในวันที่ 22-24 ส.ค.ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และอาร์เจนตินาได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นทางการต้นปีหน้า ทำให้ดูเหมือนการรวมพลังของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อคานอำนาจกับกลุ่มพัฒนาแล้ว เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง

ที่น่าสนใจคือส่วนหนึ่งของสมาชิกใหม่คือผู้ผลิตน้ำมันดิบ 60% ของโลก จึงมีข้อสังเกตว่าจะทำให้เงินสกุลตราอเมริกันดอลล่าร์ซึ่งเป็นมาตรฐานใช้ในการซื้อขายน้ำมันดิบทั่วโลก (petrodollar) จะมีเงินสกุลตราใหม่ของกลุ่ม BRICS เกิดขึ้นมาใหม่เป็นคู่แข่งหรือไม่

เงินตราสกุลใหม่ BRICS จะเกิดขึ้นจริงหรือ

นอกเหนือจากประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียซึ่งได้ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน ประธานาธิบดีบราซิล Luiz Inacio Lula da Silva เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เสนอเรียกร้องในการประชุมครั้งนี้ให้ BRICS สร้างสกุลเงินใหม่ เพื่อใช้ในการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ และลดความเสี่ยงการคว่ำบาตรของตะวันตกต่อประเทศที่ขัดแย้งกับนโยบาย บทเรียนคือรัสเซียถูกคว่ำบาตรและตัดออกจากระบบการเงินสากลด้วยเหตุผลจากการรุกรานยูเครน

3ประเทศยังสงวนท่าที อินเดียและแอฟริกาใต้ไม่แสดงความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวเพียงว่าอยากเห็น “การปฏิรูประบบการเงินและการเงินระหว่างประเทศ” แต่ไม่ให้ความชัดเจนเรื่องเงินตราสกุลใหม่

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมือง และภูมิศาสตร์ระหว่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ อาจเป็นอุปสรรคใหญ่

1) จีนต้องแบกภาระของกลุ่มมากเกินไป ธนาคารพัฒนา New Development Bank  https://www.ndb.int/ ได้รับเงินสนับสนุน 90% มาจากจีนประเทศเดียว จึงทำให้สมาชิกทุกประเทศต้องให้ความสนใจและเจรจาโดยตรงกับจีนซึ่งเป็นนายทุนใหญ่ บราซิล แอฟริกาใต้และรัสเซียค้าขายกับจีน แต่แทบจะไม่ได้ค้าขายกับประเทศอื่นในกลุ่มนี้เลย

2) ความไม่ไว้วางใจระหว่างจีนกับอินเดีย อินเดียแตกต่างจากประเทศอื่นคือการค้ากับจีนนั้นน้อยมาก และทั้งสองประเทศยังขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อินเดียเน้นที่ความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ระยะหลังมาก็แสดงท่าทีเอนเอียงไปทางตะวันตกมากขึ้น และอินเดียกำลังจะได้รับ ผลประโยชน์จากการที่บริษัทชาวตะวันตกโยกย้ายถิ่นฐานการผลิตออกจากจีน สองประเทศมีความขัดแย้งเรื้อรังเรื่องพรมแดน บวกกับการที่จีนเพิ่มความสัมพันธ์กับปากีสถานซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของอินเดีย

3) สมาชิกเพิ่ม ปัญหาก็เพิ่ม การเพิ่มจำนวนสมาชิกอาจไม่ได้นำมาสู่ความเข้มแข็งที่แท้จริง เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นแต่ละประเทศก็จะนำปัญหาของตนเองเข้ามาให้กลุ่มช่วยแก้ไข และก็มักจะเสนอวิธีการซึ่งได้ประโยชน์กับตนเองมากที่สุด เช่นรัสเซียก็อยากจะให้ประเทศที่เข้ามาร่วมใหม่ทั้งหลายรวมหัวกันต่อต้านตะวันตก ส่วนจีนก็จะใช้ความเป็นผู้นำของกลุ่มซึ่งมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นเครื่องต่อรองกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องสนธิสัญญาซึ่งเป็นประโยชน์ของจีนโดยตรง

ซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขายน้ำมันให้กับจีนและรับชำระด้วยเงินหยวนก็จริง แต่เหตุที่สองประเทศนี้หันมาใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ คือหวังว่าจะมีมหาอำนาจคือจีนเป็นทางเลือกช่วยปกป้องความมั่นคงปลอดภัยหากมีการรุกรานจากศัตรู ซึ่งปัจจุบันพึ่งพาสหรัฐ แต่ไม่เชื่อมั่นว่าจะพึ่งสหรัฐได้ตลอดไปหรือไม่

ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และใช้อเมริกันดอลล่าร์เป็นสกุลตราหลักซื้อขายน้ำมันดิบ จึงทำให้ทั่วโลกใช้อเมริกันดอลลาร์ตาม เหตุมาจากซาอุดิอาระเบียต้องการให้กองทัพของสหรัฐปกป้องหากมีการถูกรุกรานจากศัตรู และซาอุดิอาระเบียก็ยังลงทุนขุดเจาะน้ำมันและกลั่นน้ำมันในสหรัฐเช่นบริเวณชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกเป็นต้นทั้งนี้เป็นเพราะความหวังว่าความใกล้ชิดเรื่องการค้าขายและการลงทุนด้านพลังงานจะทำให้สหรัฐการันตีความปลอดภัยของซาอุดิอาระเบีย

ระยะหลังนี้จีนเพิ่มบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันในภูมิภาค การลดความขัดแย้งอาจช่วยในการลดการพึ่งพาของซาอุดิอาระเบียต่อสหรัฐ แต่การทหารของจีนนั้นยังไม่สามารถจะเป็นการันตีให้ประเทศในตะวันออกกลางได้เนื่องจากเดี๋ยวต้องพัฒนาไปอีกระยะหนึ่ง

เอธิโอเปียเป็นประเทศยากจนและไม่มีทางออกทางทะเลจึงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อยมากต่อกลุ่ม แต่ก็เป็นการเพิ่มสมาชิกจากทวีปแอฟริกาเพื่อให้กลุ่มดูสมดุลย์มากขึ้น

ส่วนอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ไม่ยากจน แต่มีจุดอ่อนเป็นรัฐสวัสดิการ และการเข้าร่วมกับกลุ่มก็ดูเหมือนกับว่าจะต้องการความช่วยเหลือจากจีน และนักการเมืองซึ่งอาจได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่จากการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมนี้ได้เสนอว่าควรใช้อเมริกันดอลล่าร์มาแทนเงินตราในปัจจุบันเพราะอาร์เจนตินามีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการบริหารสกุลตราของตนเองมาโดยตลอด

อียิปต์เป็นประเทศที่อินเดียต้องการนำเข้ามาในกลุ่มเพราะมีประชากรมากและเป็นประเทศสำคัญในแอฟริกา ซึ่งจะทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งในระยะยาว แต่ในเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว อียิปต์มีส่วนช่วยองค์กรนี้น้อยมาก แต่จะกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์มากกว่าและที่ผ่านมาหลายทศวรรษอียิปต์พึ่งพาเรื่องความมั่นคงจากสหรัฐ อีกทั้งอียิปต์ จอร์แดนและอิสราเอลเป็นสามประเทศที่ได้รับความสนับสนุนทางการเงินและการทหารจากสหรัฐเพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้มีสงครามในภูมิภาคระหว่างกัน

เงินสกุลตราที่จะเกิดมาเป็นคู่แข่งหรือเป็นทางเลือกของอเมริกันดอลลาร์นั้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายหลายกลุ่มหลายวาระพยายามคิดค้นขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคอีกหลายอย่าง แต่เป็นความคิดที่ดีและต้องพยายามต่อไป ควรอย่างยิ่งที่จะจะมีเงินตราสกุลอื่นซึ่งเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับโดยสากล และใช้กันอย่างแพร่หลายจริงจังในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ความหวังจะอยู่ที่กลุ่ม BRICS หรือไม่ คำตอบนั้นยังไม่ชัดเจน และระยะหลังมานี้เศรษฐกิจของจีนดูท่าทางจะน่ากังวลเพิ่มขึ้นทุกวัน ภาวะเงินฝืดอาจเป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้ผู้นำของกลุ่ม BRICS คือจีน ต้องทบทวนนโยบายอีกหลายรอบครับ