เกิด Inverted Yield Curve แล้ว แต่ทำไมเศรษฐกิจสหรัฐ ยังไปต่อ?

เกิด Inverted Yield Curve แล้ว แต่ทำไมเศรษฐกิจสหรัฐ ยังไปต่อ?

ปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve  หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา

ทำให้ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กับ 2 ปี ติดลบ 0.69% (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค. 2566) ติดลบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2565 ในขณะเดียวกันส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี กับ 3 เดือน ติดลบ1.28% (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค. 2566) ติดลบอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2565

ซึ่งอาจเกิดจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู่กรอบเป้าหมาย และสามารถกลับมาผ่อนคลายนโยบายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยได้ในที่สุด หรือในทางกลับกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามมา

ดูเหมือนว่านักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยมากกว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ สอดคล้องกับข้อมูลทางสถิติในอดีต คือ ทุกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู่กรอบเป้าหมาย มักจะตามมาด้วยด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย (อ้างอิงจากข้อมูลการขึ้นดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-ปัจจุบัน) เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงในทันที

แต่จะมีความล่าช้าประมาณ 12-24 เดือน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 22 เดือน ใกล้เคียงกับการศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาซานฟรานซิสโก เมื่อเกิด Inverted Yield Curve ต่อเนื่อง เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 12-24 เดือน 

เกิด Inverted Yield Curve แล้ว แต่ทำไมเศรษฐกิจสหรัฐ ยังไปต่อ?

 

ผ่านมา 1 ปีกว่าๆ นับตั้งแต่เกิด Inverted Yield Curve และเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ  แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราชะลอลง แต่ไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Soft Landing) พร้อมกับที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างปรับคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะไม่เกิดในปีนี้ และเลื่อนออกไปในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งสภาวะทางเศรษฐกิจในครั้งนี้มีความแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

  1. ภาคบริการในสหรัฐฯ ขยายตัวดี ตรงข้ามกับภาคการผลิตที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 77.6% ของจีดีพีสหรัฐฯ อ้างอิงจากข้อมูลธนาคารโลกปี พ.ศ.2564 ภาคบริการในสหรัฐฯ มีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2540 ที่มีสัดส่วน 71.8% ของจีดีพี
  2. ในช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ประชาชนสหรัฐฯ  มีเงินออมส่วนเกินสะสมสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงจากการคำนวณของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาซานฟรานซิสโก เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งทำให้ประชาชนสหรัฐฯ บางกลุ่มยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และใช้จ่ายจากเงินออมสะสม ซึ่งการบริโภคคิดเป็นสัดส่วน 68.2% ของจีดีพีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาซานฟรานซิสโก เงินออมสะสมส่วนเกินจะลดลงน้อยกว่า 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเดือนมิถุนายน 2566 และจะเริ่มหมดภายในไตรมาส 3 ปีนี้
  3. ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ตึงตัวหลังจากกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด-19  แรงงานส่วนหนึ่งไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 4-5% (yoy) ในช่วงหลังโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น 2-3% (yoy) เป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคของสหรัฐฯ  

แม้ว่าการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะถูกเลื่อนออกไป และมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวแบบ Soft landing แต่สัญญาณ Inversion Yield Curve ที่เกิดขึ้นในอดีตพยากรณ์โอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ถูกต้อง มีผิดพลาดไม่กี่ครั้ง ดังนั้น สัญญาณที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เตือนให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน ตระหนักถึงความเสี่ยง

โดยต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด วางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาะเศรษฐกิจและการลงทุน ด้วยการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ โดยก่อนการลงทุนทุกครั้งควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนนั้น  เพื่อจะได้ลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยนักลงทุนสามารถขอคำแนะนำจากผู้แนะนำการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน หรือเลือกลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการลงทุน