ออมสินตั้งเป้าหมื่นล้านปล่อยสินเชื่ออีวีซัพพลายเชน

ออมสินตั้งเป้าหมื่นล้านปล่อยสินเชื่ออีวีซัพพลายเชน

ออมสินจับมือสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยดันเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ประเดิม “GSB EV Supply Chain “ ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% นาน 2 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ตั้งเป้าปล่อย 1 หมื่นล้านบาท สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดตัวสินเชื่อ GSB EV Supply Chain เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (อีวี) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอีวี เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษ  สามารถนำไปใช้ลงทุน หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ปรับตัวก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเก็จ สินเชื่อกรีน โลน ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.745 %ต่อปี  ระยะเวลากู้ 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้สินเชื่อ จีเอสบี ฟอร์ บีซีจี อีโคโนมี ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และซัพพลาย เชน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า รับจ้างผลิต ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ลงทุนใหม่ และรีไฟแนนซ์ได้

นายวิทัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนแหล่งเงินไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท อาทิ  จีเอสบี กรีน โฮม โลน สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่ต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ จีเอสบี โก กรีน สำหรับผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อจีเอสบี ฟอร์ บีซีจี อีโคโนมี เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ตลอดจนสินเชื่อจีเอสบี กรีน บิส สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

“ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจีเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ  และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ” 

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 73 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เทรนด์การเติบโตของการใช้รถอีวีนั้น ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ยอดจดทะเบียนอยู่ที่ประมาณ 300 คัน ปี 2562 ยอดจดทะเบียนเพิ่ม 300% เป็น 1.5 พันคัน ต่อมาในปี 2563 ก็เพิ่มเป็น 3 พันคัน ปี 2564 เพิ่มเป็น 5 พันคัน ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นคัน โดยรถอีวีส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเชนนั้น ปัจจุบันมีกว่า 2 พันแห่ง”