สรรพสามิตตั้งทีมถกแนวจัดเก็บภาษีคาร์บอนรับมือมาตรฐาน CBAM

กรมสรรพสามิต ตั้งทีมถกแนวจัดเก็บภาษีคาร์บอนรับมือมาตรฐาน CBAM

สรรพสามิตตั้งทีมถกแนวจัดเก็บภาษีคาร์บอนรับมือมาตรการ CBAM ก่อนเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา ระบุ ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงถึง 400 ล้านตันต่อปี ผ่านธุรกิจพลังงาน และขนส่ง สัดส่วนสูง 65-70% ต่อปี วอนทุกฝ่ายหาแนวทางลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมวางแนวทางโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ไฟฟ้า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน (carbon tax) ว่า ขณะนี้ กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างและประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รวมทั้ง กำลังการตั้งทีมเพื่อไปศึกษามาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป เพื่อให้ได้ภาษีคาร์บอนที่เป็นมาตรฐานสากล

“หลักการสำคัญในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว คือ การจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าแต่ละชนิด อาทิ รถยนต์ น้ำมัน โดยดูว่า สินค้าตัวชนิดไหนปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ก็จะจัดเก็บภาษีมาก และถ้าปล่อยน้อยก็จัดเก็บภาษีน้อย ทั้งนี้ ก็ต้องมีการศึกษาและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับมาตรฐานการปล่อยวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ เมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อพิจารณาต่อไป”

ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 400 ล้านตันต่อปี กลุ่มที่ปล่อยมากที่สุด คือ พลังงาน และขนส่ง รวม 65-70% ต่อปี ฉะนั้น กรมฯจึงเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล ผ่านการดูแลและยกระดับ 2 กลุ่มดังกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ในอนาคตมาตรการ CBAM นั้น จะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยไม่ได้ดูเพียงตัวสินค้าที่จะนำเข้าว่าการผลิตมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์เท่าไหร่ ซึ่งมีด้วยกัน 3 scope คือ 1.พิจารณาจากกระบวนการผลิตของสินค้า 2.พิจารณาไปถึงการใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาดที่ใช้ในโรงงานของสินค้านั้นๆเท่าไหร่ และ 3. ขยายการพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิต (supply chain)ของสินค้า ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

“ที่ผ่านมาอาจมองว่า เรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสรรพสามิตเลย แต่วันนี้เราต้องสร้างบทบาทเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเหล่านี้ โดยศึกษาในบทบาทของกรมฯเตรียมไว้ก่อน เหมือนกับกฎหมายการประมง IUU Fishing (Illegal Unreported and Unregulated. Fishing) ที่มีความเข้มงวด ซึ่งเขาดูจะว่าสินค้าทะเลที่นำเข้านั้น มาจากเรือที่จับสัตว์น้ำตามฤดูหรือไม่ มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือเปล่า ซึ่งก็จะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ”

ปัจจุบัน นอกจากการ กฎหมายซีแบมของสหภาพยุโรปแล้ว ทางทางสหรัฐอเมริกาก็กำลังผลักดันกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act: CCA) ซึ่งจะมีการกำหนดกลไกราคาคาร์บอน) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมาตรการปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าก่อนข้ามพรมแดน คล้ายกับ ซีแบมด้วยดังนั้น ต่อไปส่งออกไปยุโรปหรืออเมริกาก็ต้องโดนกฎหมายนี้หมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯได้ยกระดับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากขนส่ง อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีเรื่องปัญหาแบตเตอรี่เพราะชิ้นส่วน 50-60% ของรถอีวีเป็นแบตเตอรี่ ซึ่งในระยะเวลา 5-10 ปี จะต้องมีการคำนึงถึงการกำจัดชิ้นส่วนในส่วนนี้ด้วย เพราะจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“แม้ว่ารถอีวีจะเป็นส่วนที่จะเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่อนาคตจะมีเรื่องปัญหาแบตเตอรี่ที่อาจเป็นขยะ หากไม่มีการกำจัดและดูแลอย่างถูกวิธี กรมฯก็คำนึงถึงเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาด้วย”

สำหรับ แนวทางโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ รูปแบบ แบ่งเป็น 3 ปอ ได้แก่ 1. ประเภท ซึ่งแบตเตอรี่ที่เป็นประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะให้สิทธิการคิดอัตราภาษีถูกลง 2.ประสิทธิภาพ แบตเตอรี่จะต้องมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ต้องมีความจุ ไม่ต้องชาร์จบ่อย และ 3. ประสิทธิผล สามารถนำมารีไซเคิลได้ รวมทั้ง จะมีการทำระบบติดตามแบตเตอรี่ เพื่อตรวจสอบว่ามีการนำแบตเตอรี่เหล่านี้ไปรีไซเคิลจริงหรือไม่

“โครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ไม่ใช่เฉพาะรถยนต์อย่างเดียว กรมฯจะรวมแบตเตอรี่ทุกประเภทมาไว้ด้วยกันเพราะเรื่องพลังงาน เช่น การติดตั้งโซล่าเซลล์ ซึ่งจะต้องมีแบตเตอรี่จัดเก็บ เป็นต้น”

สำหรับ โครงสร้างภาษีกรมสรรพสามิต รายได้หลักมาจาก 6 สินค้า 1.ภาษีน้ำมัน 40% 2.ภาษีรถยนต์25-30% 3.เบียร์ 4.สุรา 5.ยาสูบ และ 6.เครื่องดื่ม รวมทั้ง 6 สินค้าเป็นรายได้ 95% ของทั้งหมด โดยจะเห็นว่า สินค้าที่กรมจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะน้ำมัน และรถยนต์นั้น เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ส่วนภาษีแบตเตอรี่ ภาษีไบโอเอทีลีน และภาษีคาร์บอนจะเป็นสินค้าใหม่ ที่จะเป็นทั้งแหล่งรายได้ และส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต