ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของผู้นำด้านภาษี

ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของผู้นำด้านภาษี

จากทิศทางของกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปจนถึงการเปลี่ยนระบบของหน่วยงานด้านภาษีให้เป็นแบบดิจิทัล และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการปรับปรุงกระบวนการด้านภาษีให้ทันสมัย บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง จึงต้องเผชิญกับแรงกดดันในการดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านภาษีอย่างมาก

ผู้นำด้านภาษีขององค์กรกำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย เช่น ความเสี่ยงด้านการตรวจสอบภาษีที่เพิ่มขึ้น การขาดความชัดเจนและการควบคุมงานด้านภาษี และความล่าช้าในการแข่งขันด้านดิจิทัล หากแผนกภาษีไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ก็จะเป็นการยากที่จะส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

การปรับปรุงระบบภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ผู้นำด้านภาษีได้ทำงานอย่างหนักในการสร้างความเชื่อมั่นว่าพวกเขามีกระบวนการและระบบที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลงานด้านภาษีที่แข็งแกร่งและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีบังคับใช้มาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและเคลื่อนย้ายกำไร (Base Erosion and Profit Shifting) หรือ BEPS 2.0 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation : OECD) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2568

จาก The Second Pillar ของ BEPS 2.0 ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 15 สำหรับกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติที่มีรายได้รวมกันทั่วโลกอย่างน้อย 750 ล้านยูโร (หรือสองหมื่นเจ็ดพันล้านบาท) ต่อปี สิ่งที่เป็นความท้าทายปัจจุบันคือองค์กรจะเข้าถึงชุดข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นได้ด้วยวิธีใด ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวมีขั้นตอนที่ซับซ้อนสำหรับนิติบุคคลข้ามชาติหลายๆ แห่ง เนื่องจากข้อมูลที่จำเป็นจำนวนมากถูกจัดเก็บในระบบต่างๆ และในหลายแผนกขององค์กร ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลเพิ่มขึ้น

แรงกดดันจากแนวรบต่างๆ

ภายในองค์กร แผนกภาษีหลายแห่งกำลังต่อสู้กับข้อจำกัดด้านทรัพยากรเนื่องจากแรงกดดันในการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเป็นแบบดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น บ่อยครั้งมีความลังเลในการตัดสินใจเลือกระหว่างการเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีคนใหม่กับการจ้างพนักงานด้านเทคโนโลยีที่สามารถเร่งรัดขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงระบบเป็นแบบดิจิทัล

หนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดซึ่งอยู่เบื้องหลังความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงระบบให้เป็นแบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วคือหน่วยงานด้านภาษีหลายแห่งในปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้งานแล้ว ส่งผลให้พวกเขาจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้เสียภาษีที่เป็นนิติบุคคลได้แบบเรียลไทม์ และกระบวนการตรวจสอบบัญชี รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนใหญ่ก็ได้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบดิจิทัลแล้ว 

ปัจจัยดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลที่จัดเก็บครบถ้วนและสมบูรณ์ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อความเป็นจริงหรือประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นแบบเรียลไทม์

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้เป็นแบบดิจิทัลแล้วแล้ว แผนกภาษียังต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอีกด้วย องค์กรบางแห่งดำเนินการตามแนวคิดรวมศูนย์ของแผนกการเงิน ในขณะเดียวกันก็รวมหน่วยงานด้านภาษีไว้ภายใต้ทีมหลักทีมเดียว เพื่อให้กระบวนการและผลการดำเนินงานมีมาตรฐาน 

นอกจากนี้แผนกภาษียังมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นที่จะเข้าร่วมเมื่อองค์กรเปลี่ยนไปใช้โซลูชันบนคลาวด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP)

เนื่องจากความซับซ้อนของกฎหมายภาษีและชุดข้อมูลที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในระดับภูมิภาค ทีมภาษีจึงไม่สามารถพึ่งพาการกำหนดค่าข้อมูลนอกจากระบบหลักของตนได้อีกต่อไป การใช้ระบบหรือซอฟต์แวร์หลายระบบนอกเหนือจากระบบ ERP หลักอาจนำไปสู่การจัดการข้อมูลซึ่งส่งผลให้กระบวนการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีไม่มีประสิทธิภาพและเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้นระบบ ERP ที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานภาษีอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี

ถึงเวลาทบทวนรูปแบบการดำเนินงานด้านภาษี

ความกดดันทั้งหมดนี้กำลังผลักดันให้แผนกภาษีต่างๆ ต้องทบทวนวิธีการดำเนินงาน เพื่อทำให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเคร่งครัดและสร้างมูลค่าทางกลยุทธ์ให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น แผนกภาษีเหล่านั้นมีความเข้าใจว่าตนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการตรวจสอบและโต้แย้งด้านภาษี อีกทั้งกรณีจะเกิดความล่าช้าทั้งในแง่การเปลี่ยนระบบภาษีเป็นแบบดิจิทัลและประสิทธิภาพการดำเนินงาน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติงาน

จากประสบการณ์ของเรา บริษัทหลายแห่งกำลังพิจารณาตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับรูปแบบการดำเนินงานด้านภาษีของตน หนึ่งในทางเลือกนั้นคือการจ้างบุคคลภายนอกให้ดำเนินงานด้านภาษีทั้งหมดซึ่งจะขจัดความจำเป็นที่ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีด้วยตนเอง ในขณะที่ได้รับประโยชน์จากมาตรฐานของผู้ให้บริการและอาจลดต้นทุนของพวกเขาได้ด้วย

อีกทางเลือกหนึ่งคือเก็บงานด้านภาษีไว้ในบริษัทและลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการ ขยายการใช้ศูนย์บริการ และนำระบบอัตโนมัติรวมถึงเทคโนโลยีมาใช้ปฏิบัติงาน 

ไม่มีทางเลือกเดียวที่เหมาะสมตลอดไป

ไม่ว่าองค์กรจะเลือกใช้ทางเลือกใด สิ่งสำคัญตือต้องเข้าใจว่าไม่มีทางเลือกเดียวที่จะเหมาะสมกับแก้ปัญหาทุกประเภท บริษัทอาจตัดสินใจจ้างบุคคลภายนอกจัดการงานด้านภาษี แต่นั่นเป็นเพียงมุมมองหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานด้านภาษีทั้งหมด

องค์กรจำนวนมากขึ้นกำลังให้ความสำคัญกับการทบทวนอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงความท้าทายต่างๆ ที่แผนกภาษีของตนต้องเผชิญอย่างครบถ้วน ความท้าทายเหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ความจำเป็นในการนำเสนอการออกแบบรูปแบบกระบวนการใหม่ และขับเคลื่อนคุณค่าจากข้อมูลด้วยกระบวนการอัตโนมัติ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาการขาดบุคลากรที่ความสามารถและการดำเนินงานในด้านธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ

คุณค่าของการทบทวนการดำเนินงานด้านภาษีดังกล่าวอยู่ที่การระบุรูปแบบการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าและอนาคตขององค์กร ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผสมผสานผู้มีความสามารถภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างเหมาะสม

ไม่ว่าองค์กรจะเลือกดำเนินการด้วยวิธีใดก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทั้งหมดเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในสภาพแวดล้อมทางภาษีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความต้องการสูงในปัจจุบัน ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล ไปจนถึงการประมวลผลและการรายงานผล เทคโนโลยีทำให้องค์กรต่างๆ เดินหน้าไปใกล้เป้าหมาย ที่ต้องการมากขึ้น และถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆ จะเริ่มยอมรับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการนี้