ม็อบคนชราบุกคลังร้องกรณีแนวคิดตัดเบี้ยยังชีพคนรวย

ม็อบคนชราบุกคลังร้องกรณีแนวคิดตัดเบี้ยยังชีพคนรวย

ม็อบคนชราบุกคลังร้องกรณีคลังแนวคิดตัดเบี้ยยังชีพคนรวย ชี้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ แม้คลังจะชี้แจงว่า ไม่มีแนวคิดตัดเบี้ยยังชีพคนชราที่เป็นคนจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้(9ส.ค.) กลุ่มม็อบ ราว 30-40 คนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) พร้อมตัวแทนกลุ่มผู้สูงวัย เดินทางมายังกระทรวงการคลัง ถ.พระราม 6 เพื่อยื่นหนังสือถึงรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านปลัดกระทรวงการคลัง ขอคัดค้านการปรับลดรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เฉพาะคนจน จนถึงขณะนี้ ม็อบยังปักหลักอยู่บริเวณประตูที่ 4

ทั้งนี้ ในหนังสือระบุ ตามที่มีกระแสข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมแนวทางลดรายจ่ายภาครัฐเสนอต่อรัฐบาลใหม่ โดยการปรับลดรายจ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในกลุ่มที่มีความซ้ำซ้อนหรือลดกลุ่มเป้าหมาย การช่วยเหลือจะมีเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ขอแสดงความไม่เห็นด้วยในแนวคิดดังกล่าว และมีความเห็นว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ พัฒนาการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากระบบสงเคราะห์ในปี 2536 ระบบถ้วนหน้าในปี 2552 อัตราขั้นบันได 600-1000 บาท ในปี 2554 แต่ไม่มีการปรับอัตราเบี้ยยังชีพมากว่า 13 ปี ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า การปรับเบี้ยยังชีพเป็นระบบสงเคราะห์จึงเป็นระบบสวัสดิการที่ถดถอย ไปกว่า 30 ปีเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่าย We Fair มีข้อเสนอดังนี้ 

1.เราไม่เห็นด้วย กับการปรับลดงบประมาณสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ไปเป็นแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนยากจน ขัดต่อหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และขาดการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระบวนการพิสูจน์ความยากจนทำให้เกิดการตกหล่นจำนวนมาก 

2.เราขอยืนยันว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ไม่ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังในสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหาร เมื่อพิจารณาเบี้ยยังชีพจัดได้ว่าเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถือเป็นสวัสดิการส่วนขยาย

ทั้งนี้ หากรัฐบาลปรับลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5 ล้านคน จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประมาณ 11 ล้านคน ถูกตัดสิทธิไปกว่า 6 ล้านคน

3.เราเห็นว่า การสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ไม่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดสวัสดิการประชาชน ในทางกลับกัน รัฐควรเพิ่มการจัดเก็บรายได้และการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณให้มีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) กำไรจากตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ (Vacancy Tax) การปรับปรุงการลดหย่อนและยกเว้นภาษีในลักษณะผู้มีรายได้น้อยเอื้อผู้มีรายได้สูง การพัฒนากระบวนการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญงบประมาณ เช่น การปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม กำลังพล อาวุธยุทธภัณฑ์ รวมทั้งการปฎิรูประบบราชการ