ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ จากดอลลาร์แข็งค่า-การเมืองไทยไม่แน่นอน

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ จากดอลลาร์แข็งค่า-การเมืองไทยไม่แน่นอน

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ส.ค. 66 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์แข็งค่าจากแรงหนุนสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากความไม่แน่นอนการเมืองไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้  ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า "ค่าเงินบาท"เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในลักษณะ sideway up (แกว่งตัวในช่วง 34.98-35.07 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) 

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ จากดอลลาร์แข็งค่า-การเมืองไทยไม่แน่นอน

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ที่หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นรวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ที่ยังคงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยนอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ไปไกลมาก ก็อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ในโซนดังกล่าว ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเราประเมินแนวต้านในโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ และหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (ซึ่งเราคาดว่าต้องเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลก่อน) เรายังคงประเมินโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญ

แม้ว่าในวันนี้อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญไม่มากนัก และผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ ทว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวัง ความผันผวนในฝั่งตลาดค่าเงินเอเชียที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของจีน (ในช่วงราว 8.30 น.) โดยผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับในเชิงบวก ต่อรายงานอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงได้ (Bad News = Good News for the markets) จากความหวังว่า ทางการจีนอาจเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาใกล้ชิดว่า ตลาดการเงินจะตอบรับในเชิงบวกได้จริงตามที่เราคาดหรือไม่ โดยหากผู้เล่นในตลาดตอบรับในเชิงบวกก็อาจหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้และอาจช่วยชะลอการอ่อนค่า หรือ หนุนให้สกุลเงินเอเชียรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก-กลาง หลัง Moody’s ได้ปรับลดเครดิตเรทติ้งของธนาคารขนาดเล็ก-กลาง หลายแห่ง และเตรียมทบทวนเครดิตเรทติ้งของธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด-0.42%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงราว -0.23% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารอิตาลี ยังเผชิญแรงขายหนัก หลังทางการอิตาลีอนุมัติการเก็บภาษีลาภลอย40% จากกำไรพิเศษของธนาคาร ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการพุ่งขึ้นแรงของหุ้น Novo Nordisk +17.3% หลังรายงานผลการศึกษายารักษาโรคอ้วนที่มีประโยชน์ต่ออาการที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่มีทั้งฝั่งสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และฝั่งที่มองว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.00% (กรอบ 3.98%-4.04%) อนึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจากRisk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก(มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้าง หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัวsideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวนนั้น ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาดCOMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลง ใกล้ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะเริ่มทรงตัวที่ระดับดังกลาวได้ หลังเงินดอลลาร์เริ่มย่อตัวลง นอกจากนี้ เรายังเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้อีกครั้ง ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -0.4% อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวอาจยิ่งเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ร่วมกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้น

ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น