หนี้เสียครัวเรือนทะลุ‘1ล้านล.’ ‘เครดิตบูโร’ ห่วงเจนวายเบี้ยวจ่ายมากสุด

หนี้เสียครัวเรือนทะลุ‘1ล้านล.’ ‘เครดิตบูโร’ ห่วงเจนวายเบี้ยวจ่ายมากสุด

“เครดิตบูโร” เผย “หนี้เสีย” ภาคครัวเรือนไทยไตรมาส 2 พุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาท ย้ำน่าห่วงหลังพบหนี้ “บ้าน-รถยนต์” กลายเป็นเอ็นพีแอลกว่า 3.8 แสนล้าน ขณะหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างยอดทะยานใกล้แตะ 1 ล้านล้านบาท แนะเร่งช่วยลูกหนี้ “กลุ่มรหัส 21” 3.4ล้านคน

       “หนี้ครัวเรือน” เป็นสิ่งที่พูดถึงกันตลอดช่วงที่ผ่านมา ที่น่าห่วงมากขึ้น โดยเฉพาะล่าสุด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการปรับข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยนำหนี้ กยศ. ที่ราว 4.83 แสนล้านบาท และหนี้สหกรณ์บางส่วน 2.65 แสนล้านบาท รวมไปถึงหนี้การเคหะเข้ามาร่วมอยู่ในหนี้ครัวเรือน ทำให้เห็นภาพหนี้ครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทย ล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 90.6% หรือ 17.62 ล้านล้านบาท

         อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนไทย ภายใต้ข้อมูลใหม่ของธปท. ครอบคลุมหนี้ในระบบ เพียง 70% เท่านั้น แต่ยังมีหนี้อีกจำนวนมากราว 30% ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ดังนั้นการแก้ไขหนี้ อาจต้องทำให้ข้อมูลมีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้การแก้ไขหนี้ ครบถ้วน เป็นรูปธรรมมากที่สุด

    หนี้เสียครัวเรือนทะลุ‘1ล้านล.’ ‘เครดิตบูโร’ ห่วงเจนวายเบี้ยวจ่ายมากสุด     นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) กล่าวในรายการ DEEP TALK ของกรุงเทพธุรกิจว่า หากดูสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันของ ธปท. อยู่ที่ 17.62 ล้านล้านบาท คิดสัดส่วนราว 90.6% ของจีดีพี และหากดูภาพรวมหนี้ครัวเรือน ที่อยู่บนระบบของเครดิตบูโร ทั้งหมดอยู่ที่ 13.45 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 84% ของหนี้ครัวเรือนไทย

        ขณะที่ ในส่วนเครดิตบูโรไม่มีข้อมูล คือ หนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกทั้งสิ้นราว 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการปล่อยกู้ให้เฉพาะบุคลากรการศึกษา ครู 8 แสนล้านบาท และกลุ่มนี้ยังไม่นับที่กู้จากในระบบการเงินอีกราว 6 แสนล้านบาท รวมแล้ว บุคลากรการศึกษา และครู เป็นหนี้รวมอยู่ราว 1.4 ล้านล้านบาท
 

        อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะข้อมูลหนี้บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโรที่ 13.5 ล้านล้านบาท พบว่า ในนี้ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือมีการค้างชำระหนี้เกิน 91 วัน (เอ็นพีแอล) ณ สิ้นไตรมาส 2 กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท

หนี้เสียไหลเพิ่มทะลุ1ล้านล้าน 

      นายสุรพล กล่าวด้วยว่า หากดูหนี้เสียที่ผ่านมา พบว่า เคยขึ้นไปสู่ระดับสุดสุดในกลางปี 2565 ที่ราว 1.1 ล้านล้านบาท ครอบคลุมคนที่เป็นหนี้เสียราว 4-5 ล้านคน และล่าสุดกลางปี 2566 หนี้เสียกลับมาอยู่ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง

      “หากดูหนี้เสียเหล่านี้เหมือนตกท้องช้าง ในช่วงที่ผ่านมาที่ดูเริ่มน้อยลงก็เพราะถูกขายออกไป โดยครึ่งปีแรก มีหนี้เสียที่ถูกขายทอดตลาดแล้ว 9 หมื่นล้านบาท แต่อย่าลืมว่าหนี้ไม่ได้หายไปไหน แค่ไม่ได้อยู่ในบัญชีเจ้าหนี้เพราะขายออกไป แต่ลูกหนี้ก็ยังเป็นหนี้อยู่ดี และอาจจะหนักขึ้น เพราะเจ้าหนี้คนใหม่อาจใช้กระบวนการกฏหมายที่เต็มรูปแบบขึ้นเพื่อเรียกคืนหนี้”

       อย่างไรก็ตาม หากดูไส้ในของหนี้เสียที่เกิดขึ้น 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เสียจากรถยนต์ 2 แสนล้านบาท หนี้เสียบ้าน 1.8 แสนล้านบาท และสินเชื่อบุคคล กู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวด 2.5 แสนล้านบาท จากการกู้ไปก่อนผ่อนทีหลัง และหนี้เกษตรกรอีกราว 6-8 หมื่นล้านบาท

     เขาย้ำว่า ภาพหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น สะท้อนก้อนหนี้เสียที่อยู่ในระบบที่มีมหาศาล และครอบคลุมคนจำนวนมาก ที่ติดกับดักหนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีมาตรการจากธปท.มารองรับ เพื่อไม่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หนี้เสียปัจจุบัน ค่อยๆไหลเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ลดลงสู่ระดับที่อยากเห็น

       และคาดว่าหลังจากนี้ จะเห็นหนี้เสียค่อยๆไหลเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ได้ต่อไปอีกครึ่งปี ตามการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเต็มที่ได้ กลางปี 2567 ดังนั้นภาพการขึ้นลงของหนี้เสีย จะเห็นต่อไปอีกสักระยะหลังจากนี้

หนี้ปรับโครงสร้างเฉียดทะลุ1ล้านล้าน

     นอกจาก “หนี้เสีย” ยังมีหนี้ก้อนที่มีปัญหาในก้อนที่ 2 และ ก้อนที่ 3 จากหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ​(SM) ที่น่าห่วง

     โดยก้อนที่สอง ที่เป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้มีราว 9.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับหนี้ที่ใกล้เคียงกับ หนี้เสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว โดยหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว พบว่า เพิ่มขึ้น หากเทียบกับ ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่มียอดปรับโครงสร้างหนี้โดยรวมเพียง 8 แสนล้านบาท

      ทั้งนี้ หนี้กลุ่มนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ผ่านการลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ ดังนั้นจะมีบางส่วนที่จะสามารถกลับไปเป็นลูกหนี้ดีได้ในอนาคต

       แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนี้ส่วนหนึ่งจะไหลกลับไปเป็นหนี้เสียในอนาคต ซึ่งหากดูโอกาสที่หนี้ก้อนนี้ จะไหลไปเป็นหนี้เสีย มีราว 30-40% และมีโอกาสกลับไปเป็นหนี้ดีได้ราว 60-70% 

หนี้ที่กำลังจะเสียรถยนต์-บ้านยังสูง

       สำหรับหนี้ก้อนถัดมา คือ หนี้กำลังจะเสีย หรือสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน กลุ่มนี้ เคยวิ่งขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 6 แสนล้านบาท เมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมา ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 4.8 แสนล้านบาท ในไตรมาส 2 ปีนี้ หลักๆ เป็นหนี้จากแบงก์รัฐที่ลดลง

       ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าห่วง คือ หนี้ที่กำลังจะเสีย ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะ หนี้จากสินเชื่อรถยนต์ ที่กำลังจะมีปัญหาการชำระหนี้ ราว 2 แสนล้านบาท และเป็นหนี้จากสินเชื่อบ้าน 1.3 แสนล้านบาท และสินเชื่อบุคคล 8.6 หมื่นล้านบาท 

        โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน เพราะหากเจาะไปดูไส้ในของหนี้ที่กำลังจะเสีย พบว่า 70% ของ 1.3 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อบ้านที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้แบงก์รัฐ ที่ไม่ใช่คนร่ำรวย แต่เป็นกลุ่มรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อย สะท้อนว่ารายได้ของผู้กู้มีจำกัดมากขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่งผลให้มีหนี้ค้างชำระมากขึ้น

        จากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในช่วงที่ผ่านมา คาดว่า หนี้ที่กำลังจะเสียเหล่านี้ มีโอกาสไหลไปเป็นหนี้เสียอยู่ที่ราว 22% สำหรับสินเชื่อบ้าน ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ หากเป็นลูกค้าแบงก์ มีโอกาสเป็นหนี้เสียราว 12% แต่หากเป็นกลุ่มเช่าซื้อรถนอกระบบธปท. มีโอกาสที่หนี้จะไหลไปเป็นหนี้เสียราว 15-20% ขณะที่สินเชื่อบุคคลมีโอกาสไหลไปเป็นหนี้เสียเกินครึ่งหรือ 54% และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ 56%

        “หากดูอัตราการเป็นหนี้ของคนไทย ในระบบของเครดิตบูโรที่มีราว 32 ล้านคน ซึ่งหากคิดเป็น 100 คน จะมีลูกหนี้ที่ เป็นหนี้เสียราว 23 คน นั่นความถึงว่า 23 คนเหล่านี้ จะไม่สามารถเข้าสู่ระบบการเงินในระบบได้ เนื่องจากเป็นหนี้เสีย ส่วนใหญ่ที่คนเป็นหนี้ ที่มีปัญหา เช่น การกู้เพื่อไปกินไปใช้ ใน 100 บาท เป็นการกู้ยืมไปกินไปใช้ 26 บาท การที่คนไทยมีหนี้เยอะแถมยังเป็นหนี้เสียสูง ถือเป็นตัวถ่วงที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ไปไหนด้วย"

         ทั้งนี้ ในลูกหนี้ทั้งหมด ที่น่าห่วงที่สุดคือ ลูกหนี้ในกลุ่มเจนวาย และกลุ่มเจนเอ็กซ์​ ที่เป็นกลุ่ม ที่มีอัตราการก่อหนี้ และการเป็นหนี้เสียค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-40 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ลูกหนี้ที่มีปัญหา กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะเป็นหนี้เพื่อการบริโภค พอการบริโภคไม่เพียงพอ ก็ต้องเติมด้วยหนี้

       นายสุรพล กล่าวว่า หากดูไส้ในกลุ่มนี้ พบว่า กลุ่มเจนวาย ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 3.7 แสนล้านบาท และกลุ่มเจนเอ็กซ์ 2.7 แสนล้านบาท รวมทั้งกลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์ เป็นหนี้เสียอยู่ทั้งสิ้น กว่า 6 แสนล้านบาท

เร่งอุ้มลูกหนี้จากโควิด3.4ล้านคน

       อย่างไรก็ตาม มองว่า กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไขหนี้เป็นการเร่งด่วน เพื่อผลันดันให้ลูกหนี้สามารถกลับเข้าสู่ระบบโดยเร็ว คือกลุ่มลูกหนี้ ที่เป็นหนี้เสียในช่วงโควิด-19 หรือรหัส 21 ที่ปัจจุบันมีลูกหนี้ทั้งหมด 4.9 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้ทั้งสิ้นราว 3.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนคนที่ 3.4 ล้านคน ที่เป็นหนี้เสียหรือประสบภัยการเงิน ในช่วงโควิด-19 จากก่อนหน้า ที่กลุ่มนี้ถือเป็นลูกหนี้ที่ชำระดีมาโดยตลอด

      ดังนั้นมองว่า กลุ่มนี้ต้องเข้าไปช่วยแก้หนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นลูกหนี้ดีได้ในอนาคต ดังนั้น อยากฝากรัฐบาลใหม่ ที่เข้ามาดูหนี้ดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ไม่ได้มีพฤติกรรมผิดนัดชำระหนี้

       “คำถามคือ จะใช้วีธีไหน ที่จะช่วยเหลือกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มนี้ เป็นหนี้ดีมาโดยตลอด แต่ต้องเป็นหนี้เสีย เพราะเป็นผู้ประสบภัยทางการเงินจากภาระหนี้สินจาก โควิดทั้งสิ้น ซึ่งมีราว 3.4 ล้านคน ซึ่งหากช่วยที่แก้ไขหนี้ได้มาก แม้จะช่วยได้ 2-3ล้านคน ไม่ได้แก้ได้ทั้งหมด แต่ก็ยังดี เพราะการช่วย 1คน นั่นอาจหมายถึง ได้ครัว1ครอบครัว ให้สามารถกลับสู่ระบบการเงินได้อีกครั้ง ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ นโยบายที่จะเข้ามาดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้"