ฟิทช์ ลดอันดับเครดิต ส่อกระตุ้น De-dollarization หวั่นจีนขายบอนด์ 1 ล้านล้าน

ฟิทช์ ลดอันดับเครดิต ส่อกระตุ้น De-dollarization หวั่นจีนขายบอนด์ 1 ล้านล้าน

Fitch Ratings ลดอันดับเครดิต สหรัฐลดเหลือ AA+ อาจทำให้กระแสลดการพึ่งพาดอลลาร์ (De-dollarization) รุนแรงขึ้น หวั่น จีน - ฮ่องกง เจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐรวมกันกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เทขายพันธบัตรทั้งหมดทิ้ง ทำสหรัฐ ล้มละลาย แม้บางกระแสปัด จีนไม่น่าทำลายความมั่งคั่งตัวเอง

Key Points

  • ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสัญชาติอเมริกัน ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐจากระดับสูงสุด AAA มาอยู่ที่ AA+
  • การปรับลดอันดับเครดิตครั้งนี้อาจเป็นข้ออ้างของประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพิงดอลลาร์ใช้เพื่อขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมา
  • ญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้อันดับหนึ่งของสหรัฐอยู่ที่ 1.1044  ล้านล้านดอลลาร์ขณะที่จีน-ฮ่องกง ถือครองพันธบัตรสหรัฐอยู่ที่ 1.085 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสัญชาติอเมริกัน ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐจากระดับสูงสุด AAA มาอยู่ที่ AA+ ซึ่งเป็นการปรับลดตามหลังเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) ที่ปรับลดไปเมื่อ 2554 แม้จะต่างเวลา และต่างวาระกัน ทว่าหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือการใช้ประเด็น “เพดานหนี้สาธารณะ” เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรีพับลิกัน และเดโมแครต

โดยปัจจุบันทั้ง เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์  และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ต่างขยับอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของสหรัฐลง คำถามก็ไปตกอยู่ที่ว่าแล้ว มูดีส์ (Mood’s) อีกหนึ่งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ จะทำตามเพื่อนๆ หรือไม่ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่ามีโอกาสถึง 70% ที่จะปรับลดอันดับเครดิตในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากข้อถกเถียงเรื่องความสมเหตุสมผลที่ทางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ ออกมาระบุว่า การกระทำดังกล่าวของฟิทช์นั้น

"เป็นการทำไปตามอําเภอใจ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ล้าสมัย"

ทว่าอีกหนึ่งประเด็นที่ควรติดตามคือ การปรับลดอันดับเครดิตครั้งนี้อาจเป็นการ “สุมไฟ” ให้ประเด็นเรื่องการลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์ หรือ De-dollarization นั้นเข้มข้นขึ้นไปอีก

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวย (ผอ.) การอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า ท่ามกลางกระแสการลดการพึ่งพิงดอลลาร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นในสถานการณ์ที่บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลกปรับลดความน่าเชื่อถือเครดิตของสหรัฐลง อาจส่งผลให้ “บรรดาเจ้าหนี้ของสหรัฐ” ที่ต้องการลดการเชื่อมโยงกับสหรัฐอยู่แล้ว ใช้โอกาสนี้ในการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมา ด้วยเหตุผลว่า “นี่ไง ก็พันธบัตรของประเทศคุณไม่น่าเชื่อถือแล้ว”

“ถ้าจีนจะใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ ก็อาจจะพูดได้ว่าอเมริกาโดนลดอันดับเรตติ้งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้จีนอาจจะต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทิ้ง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์อาจยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกจากการที่ในช่วงส่งครามรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐประกาศแช่แข็งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในรูปสกุลเงินดอลลาร์ทั้งหมด ดังนั้นจากเหตุการณ์ตัวอย่างนี้อาจทำให้หลายประเทศกังวลว่าจะตกอยู่ใน “ชะตากรรม” เดียวกันกับรัสเซีย และใช้สถานการณ์การปรับลดอันดับเครดิตนี้เป็นข้ออ้างในการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมา จนกระทบราคาพันธบัตรทั่วโลกจนเกิดความปั่นป่วน​ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่ของอเมริกา อย่างจีน และญี่ปุ่น 

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐ ณ เดือน ม.ค. 2566

โดยหากอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐ พบว่า ในเดือนม.ค.​2566 ประเทศที่ถือตั๋วเงินคลังสหรัฐ​ (US Treasury) มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ

1.    ญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.1044  ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 15.18% ของมูลค่าตั๋วเงินคลังทั้งหมดของสหรัฐ​

2.    จีน อยู่ที่ 8.594 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 11.82% ของมูลค่าตั๋วเงินคลังทั้งหมดของสหรัฐ​

3.    สหราชอาณาจักร อยู่ที่ 6.683 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 9.19% ของมูลค่าตั๋วเงินคลังทั้งหมดของสหรัฐ​

4.    เบลเยียม อยู่ที่ 3.311 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 4.55% ของมูลค่าตั๋วเงินคลังทั้งหมดของสหรัฐ​

5.    ลักเซมเบิร์ก อยู่ที่ 3.182 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 4.37% ของมูลค่าตั๋วเงินคลังทั้งหมดของสหรัฐ​

หากไม่นับรวมญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรของสหรัฐ หนึ่งประเด็นที่บรรดานักวิเคราะห์กังวลคือ “จีน” เพราะหากพิจารณาพบว่า หนี้สาธารณะของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนถือครองพันธบัตรอยู่ที่ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ นั้นหมายความว่าหนี้พันธบัตรที่จีนถืออยู่คิดเป็นประมาณ 2.8% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดของสหรัฐ

ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลข 2.8% อาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่ถ้านำไปรวมกับพันธบัตรสหรัฐที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงถืออยู่ 2.26 แสนล้านดอลลาร์ ตัวเลขก็จะออกมามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 3.5% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดของสหรัฐ

โดยหากท้ายที่สุดจีนอ้างเหตุผลด้านการปรับลดอันดับเครดิตแล้วขายพันธบัตรสหรัฐออกมาทั้งหมด ราคาของสินทรัพย์ดังกล่าวจะร่วงลงอย่างรุนแรง ซึ่งดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก และอาจเป็นจุดที่ทำให้หลายประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพาดอลลาร์ขายสินทรัพย์ดังกล่าว ตามคล้ายเหตุการณ์ Bank Run ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทั้งหมดก็อาจทำให้สหรัฐทั้งประเทศ “ล้มละลาย” ได้เช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม ดร.พิพัฒน์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เคยให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า

ถึงจะมีความเป็นไปได้แต่จีนคงไม่ขายพันธบัตรของสหรัฐออกมา เนื่องจากการทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการ “ทำลายความมั่งคั่ง” ที่ตัวเองเคยสร้างขึ้นมา หรือ Shoot Yourself in the Foot 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์