กูรูแนะลงทุน'ตราสารหนี้' เป็นโอกาสรอทำกำไร หลังดอกเบี้ยใกล้แตะจุดสูงสุด

กูรูแนะลงทุน'ตราสารหนี้' เป็นโอกาสรอทำกำไร หลังดอกเบี้ยใกล้แตะจุดสูงสุด

“มอร์นิ่งสตาร์” เผยภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส2/66 มี AUM 3.9 ล้านล้าน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า พบนักลงทุนหลบความผันผวน หันลงทุน’กองทุนตราสารหนี้’ สูงถึง 1.3 แสนล้าน บลจ.อีสท์สปริง- บลจ.กสิกรไทย มองตราสารหนี้น่าสนใจ เป็นจังหวะลงทุนรอโอกาสทำกำไร ช่วงดอกเบี้ยใกล้พีคแล้ว

สำหรับในไตรมาส 2 ที่ผ่านมานี้มีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง กดดันบรรยากาศการลงทุน ทั้งการดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศหลักอาจจะยังไม่จบ  ปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป อาจปะทุขึ้นมาอีกได้ และความไม่แน่นอนปัจจัยการเมืองในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนเฝ้ารอโอกาสในการลงทุน 

นักวิเคราะห์ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ในช่วงไตรมาส 2 ปี2566 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม (AUM) 3.9 ล้านล้านบาท แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่แล้ว  ซึ่งมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 50,000 ล้านบาท

ภาพรวมกองทุน (เฉพาะกองทุนเปิด) ไตรมาส 2/2566  เงินไหลเข้า ’กองทุนตราสารหนี้’ สูงถึง 1.3 แสนล้าน

 

ทั้งนี้พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจลงทุน “กองทุนตราสารหนี้”มากที่สุด โดยเฉพาะกองประเภท Bond Fix Term จำนวน 80,406 ล้านบาท มาเป็นอันดับ 1 และ Capital Protected Fix Term จำนวน 53,753 ล้านบาท เป็นอันดับ 2   รวมมีเงินไหลเข้ารวมสูงกว่า 130,000 ล้านบาท

 โดยเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวมาจาก บลจ. ไทยพาณิชย์ 49,000 ล้านบาท, บลจ.กรุงศรี 23,000ล้านบาท, และ บลจ.กรุงไทย 19,000 ล้านบาท

 สำหรับกองทุนที่นักลงทุนให้ความสนใจถัดมาคือ “กองทุนหุ้นจีน” ที่ถึงแม้ยังให้ผลตอบแทนที่ติดลบมาทั้งปีเฉลี่ย -9.3% ก็ยังมีเงินไหลเข้าเป็นอันดับ 3 กว่า 3,500 ล้านบาท ขณะที่ “กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่” เริ่มมีเงินไหลเข้าเกือบ 3,000 ล้านบาท

ในทางกลับกัน กองทุน Foreign Investment Bond Fix term มีเงินไหลออกว่า 41,000 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่ม Flexible Bond และ Money Market ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีเงินไหลออกต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว

 "กองทุนหุ้นต่างประเทศซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีมาตั้งแต่ต้นปี เริ่มเห็นภาพเงินไหลออก นำโดยกองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นญี่ปุ่น และกองทุนหุ้นเทคโนโลยี โดยทั้ง 3 กลุ่ม ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย YTD +11.15%, 18.44% และ 30.14%"

นายสุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดตราสารหนี้ และมองว่าตราสารหนี้ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่ช่วยกระจายความเสี่ยง  (Asset Allocation) ให้กับพอร์ตได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง

โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้งภายในปีนี้ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัว และมีบางเขตเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่จะไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว และคาดว่าจะปรับลดลงในระยะถัดไป 

อย่างไรก็ดี ราคาของตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยยังสูง ตราสารหนี้จะมีราคาไม่แพง จึงมองเป็นจังหวะเข้าลงทุนเพื่อรอโอกาสทำกำไรในช่วงดอกเบี้ยขาลง

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง(ประเทศไทย) กล่าวว่าในส่วนของตราสารหนี้ เราประเมินว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างน่าสนใจในการลงทุนทั้งตราสารหนี้ภาครัฐ และภาคเอกชนในระดับที่ลงทุนได้ เนื่องจากเราประเมินว่าเป็นช่วงปลายดอกเบี้ยขาขึ้น และยีลด์ค่อนข้างน่าสนใจเป็นช่วงจังหวะทยอยเข้าลงทุนได้