SME D Bank ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ 7 หมื่นล้าน ลดหนี้เสียเหลือ 9.5%

SME D Bank ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ 7 หมื่นล้าน ลดหนี้เสียเหลือ 9.5%

SME D Bank เผย 6 เดือนแรกปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 3.2 หมื่นล้าน หนุนกำไรสะสม 309 ล้าน ขณะที่ หนี้เสียลดลงกว่า 20.88% มาอยู่ที่กว่า 10% คาดปลายปีจะเหลือ 9.5% พร้อมตั้งทีมพิเศษดูแลลูกค้าอ่อนแอใกล้ชิด ป้องกันตกชั้นหนี้ ตั้งเป้าหมายปีนี้สินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 7 หมื่นล้าน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคาร ในครึ่งแรกปี 2566 ที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.66)ว่า  สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 32,000 ล้านบาท สร้างประโยชน์ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 147,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 34,000 ราย  ทั้งนี้  การสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นการพาเข้าถึงสินเชื่อ BCG Loan  ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายปีนี้ จะปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 70,000 ล้านบาท คาดจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 320,600 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ประมาณ 88,980 ราย  ควบคู่กับให้บริการ “พัฒนา” ผ่านโครงการ SME D Coach ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยยกระดับเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการกว่า 15,000 ราย

สำหรับผลการดำเนินงานของ SME D Bank ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 มีกำไรสุทธิสะสมประมาณ 309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2565) ขณะที่ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวลดลง 20.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการ NPL อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ควบคู่บริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) สม่ำเสมอ ส่งผลให้ปัจจุบัน เหลือหนี้เสียในระบบเพียงประมาณ 10.51% และสิ้นปีนี้ คาดเหลือไม่เกิน 9.50% ตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนั้น ธนาคารมีแนวทางบริหารจัดการและช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นรายอ่อนแอที่น่ากังวลจริงๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ ผ่านกระบวนการส่ง “ทีมพิเศษ” ประกอบด้วย ทีมพัฒนาผู้ประกอบการและทีมพัฒนาคุณภาพสินเชื่อเข้าประกบติดตามดูแลลูกค้ารายอ่อนแอทุกรายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำพร้อมช่วยเหลืออย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น วินิจฉัยปัญหาธุรกิจ ประเมินศักยภาพกิจการ ให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริง พร้อมพาเข้าสู่กระบวนการเติมองค์ความรู้ในด้านที่กิจการยังขาด ควบคู่ช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด สร้างรายได้เพิ่มให้ลูกค้า ลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสียในอนาคต