บสย. ตั้งวงเงินค้ำสินเชื่อSMEsครึ่งปีหลังราว 9 หมื่นล้าน

บสย. ตั้งวงเงินค้ำสินเชื่อSMEsครึ่งปีหลังราว 9 หมื่นล้าน

บสย.ตั้งวงเงินค้ำสินเชื่อSMEsครึ่งปีหลังราว 9 หมื่นล้าน เปิดสูตร 3 เร่ง เชื่อมดิจิทัลแพลตฟอร์ม สู่เป้าหมาย SMEs Gateway โชว์ผลงานค้ำประกัน 6 เดือนแรกทะลุ 6.79 หมื่นล้านบาท หรือ 70% ของเป้าทั้งปี 9.5 หมื่นล้านบาท เผยยอดหนี้มีปัญหาอยู่ที่ 7-8% ของพอร์ตรวม 8 แสนล้าน

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของ บสย.ในช่วงครึ่งปีหลังว่า บสย.จะเร่งผลักดันการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 9 หมื่นล้านบาท ผ่านโครงการ PGS 10 รองรับราว 2.5 หมื่นล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) มีวงเงินรองรับราว 5 หมื่นล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบัน ระยะที่ 7 มีวงเงินรองรับราว1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน จะเร่งพัฒนาโครงการพัฒนานวัตกรรม บสย. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Digital Platform และพัฒนา Line @tcgfirst เพื่อการเข้าถึงบริการใหม่ อาทิ การจองคิวปรึกษา “หมอหนี้” ผ่านLine @tcgfirst ตลอด 24 ชั่วโมง การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และเทรนด์ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในกลุ่มStart up กลุ่มธุรกิจรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อม Green Business  กลุ่ม ESG การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโครงการพัฒนากระบวนการจัดการ การเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารหนี้ และโครงการพัฒนาระบบ TCG Data Management Platform เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งภายในและภายนอก

นอกจากนี้ จะเร่งยกระดับการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา หมอหนี้ บสย. โครงการพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาทางการเงิน ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) และโครงการการให้บริการCredit Mediator เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

“เราจะยกระดับค้ำประกันด้วย Digital Technology สู่การเป็น SMEs Gateway ตามแนวทาง TCG Fast & First  รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบให้ได้มากที่สุดในช่วงฟื้นประเทศ โดยเน้นการทำงาน  3 เร่ง  “เร่งค้ำ เร่งพัฒนา เร่งยกระดับ”

สำหรับผลดำเนินงานของ บสย. 6 เดือนแรกของปี 2566 นั้น ถือว่า ประสบผลสำเร็จตามเป้าทั้งด้านค้ำประกันสินเชื่อ เติมสภาพคล่องทางการเงินต่อยอดธุรกิจ SMEs การแก้หนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” การให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs  (บสย. F.A.Center) การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล Digital Technology และการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบน Line @tcgfirst  

โดยผลดำเนินงานอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ  6 เดือน มียอดอนุมัติวงเงินรวม  6.79 หมื่นล้านบาท  ช่วยSMEs ได้สินเชื่อ 5.1 หมื่นราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2.8 แสนล้านบาท สร้างสินเชื่อสู่ระบบ 7.6 หมื่นล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 4.9 แสนตำแหน่ง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ  4 โครงการ

ทั้งนี้ ยอดค้ำประกันคงค้างของ บสย.ปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ มีปัญหาที่กำลังเป็นหนี้เสียราว 7-8% โดยสถาบันการเงินอยู่ระหว่างการแก้ไขหนี้ หากตกชั้นมาทาง บสย.ก็พร้อมเข้าไปช่วยแก้ไข อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดปัญหาหนี้เสีย บสย.จะรับผิดชอบราว 30%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์