XSpring AMC จับตาสัญญาณหนี้เสียพุ่ง ขยับเป้าพอร์ตหนี้รวมปี 66 แตะ 3.5 พันล้าน

XSpring AMC  จับตาสัญญาณหนี้เสียพุ่ง ขยับเป้าพอร์ตหนี้รวมปี 66 แตะ 3.5 พันล้าน

XSpring AMC ขยับเป้าประมูลหนี้เข้าพอร์ตปีนี้ใหม่เป็น 3.5 พันล้าน หลังครึ่งปีแรกทะลุเป้าเดิมที่ 2.5 พันล้าน พร้อมมองทิศทางธุรกิจบริหารสินทรัพย์ปีนี้จับตา สัญญาณหนี้เสียพุ่ง เหตุสิ้นสุดนโยบายช่วยเหลือโควิดและดบ.ยังขาขึ้น กระทบต้นทุนทางการเงินธุรกิจ-บุคคลพุ่งตาม

นางสาววรางคณา อัครสถาพร กรรมการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด หรือ XSpring AMC  เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของ XSpring AMC ในครึ่งปีแรกเติบโตดีอย่างน่าพอใจ สามารถประมูลสินทรัพย์ฯ รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท โดยเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ประมูลเข้ามาใหม่ราว 2,000 ล้านบาท และที่เหลือเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ประมูลได้จากปีที่แล้ว

นับว่าเป็นการเติบโตได้ตามเป้าหมายทั้งปีนี้ มีพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จะประมูลเพื่อมาบริหารจัดการ จะอยู่ราว 2,000 – 2,500 ล้านบาท ดังนั้นล่าสุด ในปีนี้บริษัทจึงขยับเป้าหมายพอร์ตหนี้รวมขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาท

 

ส่วนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ XSpring AMC  แม้จะเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่มีจุดแข็งคือการได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างแข็งแกร่งจากบริษัทแม่อย่าง XPG จึงสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดดังเช่นครึ่งปีที่ผ่านมา

อีกทั้ง XSpring AMC  ก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุน XPG ให้มีบริการด้านการเงินครบวงจร นอกจากนี้ XPG ยังมีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ทราบถึงข้อมูลสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์

 

นอกจากนี้ยังมีความได้เปรียบด้านการปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่และมีความทันสมัยก่อนนำออกขายสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก

"เราจะรุกทั้งในส่วนของหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน จากปัจจุบันที่เราเน้นในส่วนของหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีหลักประกันเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และคอนโดมิเนียม ที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล”

นางสาววรางคณา กล่าวว่า สำหรับหรับทิศทางของตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพปีนี้ มองว่าจะเป็นที่น่าจับตามองกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาลูกหนี้ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ แม้ได้รับการผ่อนปรนมาตรการช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลในบางส่วน

แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาดูแลและประคองสถานการณ์บริหารหนี้ด้วยตัวเอง ประกอบกับสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ส่งผลให้บางกลุ่มธุรกิจหรือบุคคลต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่มากขึ้น ทำให้ไม่สามารถผ่อนหนี้ได้ตามกำหนด

ดังจะเห็นได้ในข่าวการผิดชำระหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีสัญญาณน่าเป็นห่วง ซึ่งหากเกิดปัญหาในส่วนหนี้เช่าซื้อรถยนต์ก็มีโอกาสขยายไปหนี้อื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้น เช่น หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ครึ่งหลังปีนี้สัญญาณหนี้จึงเริ่มน่ากังวล และต้องจับตาเป็นพิเศษ